พงศ์ศิริ ศิริธร : ความท้าทายใน บี จิสติกส์

พงศ์ศิริ ศิริธร

พงศ์ศิริ ศิริธร : ความท้าทายใน บีจิสติกส์

พงศ์ศิริ ศิริธร ผู้บริหารหนุ่ม วัย 42 มือปืนรับจ้าง ที่นั่งบริหารงานบริษัท บี จิสติกส์ ( B) ในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา หลังจาก B ได้แปลงโฉมใหม่ จาก เดิมชื่อ “บางปะกง เทอร์มินอล ( BTC ) “ สู่ชื่อใหม่ B มีการเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่ได้ทุนใหม่จาก “สิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล” เจ้าของ บริษัท มิลล์คอน สตีล ( MILL ) เข้ามาถือหุ้นใหญ่ 23 % เพิ่มเติมธุรกิจมีความหลากหลายมากขึ้น

ธุรกิจเดิมของ BTC รายได้หลัก 80 % มาจาก 2 ธุรกิจหลักคือ ท่าเรือ ลานตู้คอนเทนเนอร์ และคลังสินค้า ปัจจุบันมีท่าเรือ 1 แห่งอยู่ที่บางปะกง อายุสัมปทานเหลือ 11 ปี

ท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจโลจิสติกส์ “พงศ์ศิริ” หรือ โอ๋ ยอมรับว่า เป็นความท้าทายสำหรับเขาที่จะพลิกฟื้น B ที่ของเก่ายังขาดทุนต่อเนื่องทุก ๆ ปี กลับมามีกำไร หรืออย่างเร็วปีนี้ ตัวเลขสุดท้ายผลประกอบการน่าจะเหลือง หรือติดลบน้อยลง ไปจนถึงมีกำไรขึ้นมาในปีแรกที่เข้ามาบริหาร หรืออย่างน้อยรายได้ปี 2561 จะเห็นการเติบโตอย่างน้อย ๆ 1 เท่าตัวจากปีก่อนที่มีรายได้ 125 ล้านบาท

“พงศ์ศิริ” เป็นใครมาจากไหน จึงกล้าให้คำมั่นกับผู้ถือหุ้น B ????

หากดูประวัติของ “พงศ์ศิริ” เขาจบปริญญาตรีบริหารการเงินและธนาคาร จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) และโท สาขาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ม.รามคำแหง ผ่านประสบการณ์ทำงานโลจิสติกในองค์กรต่างประเทศหลายองค์กร อาทิ Maersk Logistics ผู้ให้บริการขนส่ง สายเรือ ของเดนมาร์ค , UPS ขนส่งสินค้าเร่งด่วนและไปรษณียเอกชน ของสหรัฐอเมริกา หรือ Aramex ขนส่งสินค้าเร่งด่วนและโลจิสติกส์ด้านอีคอมเมิร์ซ ของประเทศอาหรับเอมิเรสต์

“จากประสบการณ์ทำงานในวงการโลจิสติกส์มานาน หลายรูปแบบ ทั้งในและต่างประเทศ ขนส่งทางเรือ ทางอากาศ ขนส่งสินค้าเร่งด่วน คอนเทนเนอร์ และอีคอมเมิร์ซ ผมมั่นใจว่าสามารถนำมาพัฒนาบริษัท บี จิสติกส์ ให้แข็งแรงเติบโตยั่งยืนได้ หน้าที่หลักของผมคือการขับเคลื่อนการเพิ่มรายได้ ขยายธุรกิจ-ฐานลูกค้าจากกลุ่มพันธมิตรผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่เป็นอุตสาหกรรมเหล็ก ขยายไปอุตสาหกรรมอื่นนอกเหนือจากพันธมิตรผู้ถือหุ้นใหญ่”

พงศ์ศิริ กล่าวว่า แรงขับเคลื่อนให้ B เติบโตยั่งยืน กลับมาพลิกฟื้นได้ ประกอบด้วย โมเดลธุรกิจ , กลยุทธ์, พันธมิตร, ทีมงาน เทคโนโลยี และทางเลือกใหม่ ๆ ที่ให้กับลูกค้า รวมทั้งการหาโอกาสธุรกิจใหม่ ๆ ให้กับ B ด้วย

ต่อยอดธุรกิจ B2D – B2E

5 ปีข้างหน้าลดการพึ่งพารายได้หลัก 80 % จากท่าเรือและคลังสินค้า สู่การเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจร เป็นการต่อยอดจากท่าเรือและคลังสินค้าเข้าสู่ธุรกิจ เข้าสู่โหมดตลาดอีคอมเมิร์ช ลักษณะการสนับสนุนให้การเชื่อมโยงกับอี คอมเมิร์ช ต่างประเทศ (B 2 D-ดิจิตอล ) และการขยายธุรกิจสู่ B 2 E (เอ็นเนอร์ยี่ ) หลังจากที่เข้าสู่การให้บริการขนส่งแก๊สอุตสาหกรรมกับ BIG

นับจากนี้ไป B จะไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการท่าเรือ ลานตู้คอนเทนเนอร์ และคลังสินค้าอีกต่อไป เพิ่มเติมให้บริการด้านการขนส่งประหว่างประเทศ , การดำเนินพิธีการศุลกากร ,การจัดการโลจิสติกส์กับโครงการขนาดใหญ่ ,การบริการขนส่งด้วยกองรถเทรลเลอร์ หัวลาก รถขนส่ง 4 ล้อ , การให้คำปรึกษาด้านการค้าที่เกี่ยวกับโลจิสติกส์กับผู้นำเข้าและส่งออก การเป็นผู้ให้บริการขนส่งระหว่างประเทศ ดังนั้น 5 ปีข้างหน้า สัดส่วนรายได้ จะกระจายไปยัง 5 ส่วนหลักเฉลี่ยเท่า ๆ กัน 20 % คือ คลังสินค้า – ท่าเรือ-ขนส่ง-พลังงาน-อีคอมเมิร์ช

เมื่อดูแผนธุรกิจ ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในสายงานโลจิสติกส์ ไม่ยากเลยที่จะบอกกับซีอีโอคนนี้ว่า เขาจะเป็นทัพหน้านำพาความสำเร็จมาสู่ B ได้ไม่ยาก บนความตั้งใจและการเป็นผู้นำที่มีคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล ( CG ) บนเส้นทางธุรกิจนี้