ซีไอเอ็มบี ไทย ประกาศ ปี 2562 พร้อมรุกดิจิทัลเต็มที่

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย พร้อมบุกดิจิทัลเต็มที่ในปี 2562 หลังจากลงทุนในคนและระบบอย่างต่อเนื่อง “กิตติพันธ์ “ มั่นใจเห็นผลจากการลงทุนในอีก 2 ปีข้างหน้า

นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ธนาคารพร้อมบุกดิจิทัลเต็มที่ในปี 2562 หลังจากลงทุนในคนและระบบอย่างต่อเนื่องตลอดปีนี้ โดยปีนี้เป็น 1 ปีที่ธนาคารเริ่มโครงการ Fast Forward เพื่อสร้างการเติบโตแบบยั่งยืนโดยมีเป้าหมายก้าวเป็นธนาคารขนาดกลางของระบบธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นจาก Fast Forward อย่างเป็นรูปธรรมตอนนี้คือ ธุรกิจรายย่อยสามารถสร้างรายได้สูงถึง 66% ของรายได้รวมของธนาคาร

สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานของธนาคารและบริษัทในเครือปี 2561 ออกมาน่าพอใจ ธนาคารมีการเติบโตของสินเชื่อ 3.3% และรักษาระดับของบ NIM ไว้ที่ 3.77% ส่วนรายได้ 9 เดือนแรกเติบโตจาก 9.8 พันล้านบาทจากช่วงเดียวกันปีก่อน มาเป็น 1.01 หมื่นล้านบาทปีนี้ กำไรสุทธิอยู่ที่ 537 ล้านบาท เทียบกับ 554 ล้านบาทช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน สืบเนื่องจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น 6.1 พันล้านบาท หรือ 10.8% หลักๆ จากการลงทุนในทรัพยากรบุคคล ระบบ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับดิจิทัลรองรับการบุกดิจิทัลเต็มที่ในปี 2562 เพื่อโอกาสของการขยายธุรกิจในอนาคต

ธุรกิจรายย่อย (Consumer Banking) รักษาระดับการเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจที่โดดเด่นปีนี้คือ สินเชื่อบุคคล มีหลักประกัน และสินเชื่อรถยนต์โดยบริษัท ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ นอกจากนี้ ปีนี้ธนาคารขยับเข้าสู่พื้นที่ดิจิทัลแล้ว และเตรียมเปิดตัว 3 แอปพลิเคชั่นเร็วๆ นี้ ได้แก่ Mobile Lending, myCIMB และ My Preferred

แอปพลิเคชั่น Mobile Lending ช่วยให้ลูกค้าสมัครสินเชื่อได้โดยตรงผ่านโทรศัพท์มือถือ เป็นกระบวนการ paperless และลูกค้าไม่จำเป็นต้องไปที่สาขา ช่วยให้ลูกค้าสมัครสินเชื่อได้เร็วขึ้น และติดตามผลได้ทันที แอปพลิเคชั่น myCIMB เป็นโมบายแบงกิ้งของธนาคาร ซึ่งได้รับการพัฒนาให้สวยงามน่าใช้และใช้ง่ายยิ่งขึ้นเพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้ลูกค้า ช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้ลูกค้าซื้อ-ขาย และสลับกองทุนแบบไร้รอยต่อ แอปพลิเคชั่น myPreferred เป็นแอปสำหรับลูกค้ากลุ่ม CIMB Preferred ในการเลือกรับของรางวัลที่ตรงใจและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของลูกค้ากลุ่มนี้

ธุรกิจขนาดเล็ก-กลาง หรือพาณิชย์ธนกิจ (Commercial Banking) ธนาคารมองเห็นโอกาสที่จะบุกตลาดสินเชื่อกลุ่มเอสเอ็มอีขนาดเล็กจึงได้จัดตั้ง credit center ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานและกลั่นกรองสินเชื่อเพื่อการอนุมัติที่เร็วขึ้น ขณะเดียวกัน ได้ขยายทีม RM ให้เพียงพอต่อการดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดและรองรับการเติบโตธุรกิจในปีหน้า

ธุรกิจขนาดใหญ่ (Wholesale Banking) ธนาคารโดดเด่นในธุรกิจบริหารเงิน (Treasury) จาก structured notes ที่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มความหลากหลายขึ้นรวมทั้งออกตราสารดังกล่าวในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศ สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในเงินสกุลต่างประเทศ นอกจากนี้ธนาคารเตรียมที่จะพาลูกค้าไปลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ โดยเบื้องต้นจะเน้นผู้ออกตราสารกลุ่มประเทศในกลุ่ม ASEAN

ทั้งนี้ ธนาคารจะมุ่งเน้นความต้องการลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) โดยนำผลิตภัณฑ์ที่ดีๆ จากพันธมิตร มานำเสนอให้ลูกค้าได้เลือกตามความพอใจ (open architecture) ทั้งกองทุนในประเทศและกองทุนต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยสนับสนุน ธุรกิจลูกค้าธนบดีธนกิจ (Private Banking) ที่จะเป็นหนึ่งในเสาหลักสร้างการเติบโตให้ธนาคารปีหน้าและอนาคตอีกด้วย หลังจากปีนี้ได้เปิดตัวทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญแล้ว ขณะที่ฝั่งสินเชื่อรายใหญ่นั้นได้มีการปรับพอร์ตในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาและจัดกลุ่มลูกค้าที่ธนาคารจะโฟกัสสำหรับแผนธุรกิจปีหน้า

“ปีนี้ธนาคารลงทุนในคน สร้างทีม RM ของทั้งธุรกิจรายย่อย เอสเอ็มอี และ Private Banking ควบคู่กับการลงทุนในระบบและเทคโนโลยี เรากำลังขยับเข้าไปสู่พื้นที่ดิจิทัลเพราะอนาคตอยู่ตรงนั้น ผมมั่นใจว่าเราจะเห็นรีเทิร์นจากการลงทุนในอีก 2 ปีข้างหน้า” นายกิตติพันธ์ กล่าว