NER หุ้นยั่งยืน ผลตอบแทนเงินปันผลสูง

NER รายใหญ่โรงงานผลิตยางพาราภาคอีสาน ชูหุ้นยั่งยืน ยอดขายเติบโตสม่ำเสมอปีละ 10% ไม่เก็งกำไรราคายาง ผลตอบแทนเงินปันผลสูง แผนระยะยาว สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าส่งขายต่างประเทศ

การเยี่ยมชมกิจการบริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ ( NER ) ซึ่งเป็นโรงงานผลิตยางพาราขั้นต้น ในรูปของยางแผ่นอัดก้อน ยางแท่ง ยางผสม เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ด้วยกำลังผลิตในปัจจุบัน 2.3 แสนตัน/ปี บนพื้นที่ 110 ไร่ ตั้งอยู่ที่อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

บริเวณพื้นที่ทั้งหมดของโรงงาน ประกอบไปด้วยห้องอบยางขนาดใหญ่ 4-5 ห้อง สำหรับอบยางแผ่นเตรียมอัดก้อน , ส่วนผลิตยางแท่งอัดก้อน-ยางแท่งผสม, ห้องเก็บสินค้าขนาดใหญ่ ซึ่งมียางแท่ง ที่รอส่ง ห้องทดสอบคุณภาพยางก่อนส่งให้ลูกค้า , ลานยางก้นถ้วยและยางเครป ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตยางแท่งผสม-ยางแผ่นผสม , โรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวลขนาด 3-5 เมกกะวัตต์เพื่อใช้ในโรงงาน โดยสินค้าทั้งหมดที่จัดเก็บอยู่ในโรงงาน เป็นสินค้าที่ลูกค้าสั่งซื้อหมด รอผลิตและจัดส่งเท่านั้น ใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ลูกค้าหลักสัญญาระยะยาว 1 ปี ขาประจำที่ไม่เคยทิ้งกันในช่วง 13 ปี ได้แก่ บริสโตน, หลิงหลง (จีน ) , Otani ฯ สินค้า 40 % ของยอดขายส่งออกไปยังลูกค้าจีน , สิงคโปร์ , มาเลเซีย

ข้อดีและเป็นจุดเด่นของ NER ก็คือ ราคายางจะขึ้น-ลง NER ไม่เก็งกำไรซื้อมา-ขายไป ตามราคาตลาด ไม่ได้หวังกินส่วนต่างราคายาง ฉะนั้น การเติบโตของรายได้-กำไร จะขึ้นอยู่กับปริมาณการผลิตที่ขยายตัว ซึ่งบริษัท ฯ มีการเติบโตปีละ 10 % อย่างสม่ำเสมอ ทำได้ไม่หรอกซะด้วย เพราะชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ เจ้าของผู้ถือหุ้นใหญ่ พื้นฐานมาจากครอบครัวแรกปลูกยางพาราของบุรีรัมย์ ปัจจุบันครอบครัวมีสวนยางประมาณ 4 พันไร่ ที่ขายป้อนให้ NER ส่วนหนึ่ง ฉะนั้น วัตถุดิบยางพารา ไม่ต้องกลัวไม่มีป้อนให้ NER

นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ ( NER ) ซึ่งให้การต้อนรับทัพนักข่าว ตั้งเป้าปี 2562 จะเพิ่มกำลังผลิตอีก 6 หมื่นตัน /ปี เป็น 2.9 แสนตัน จากการเพิ่มไลน์การผลิตยางแผ่นผสม อัดก้อน ( RSS Mixtures Rubber ) ปีละ 6 หมื่นตัน ส่งขายฐานลูกค้าเก่าและใหม่ 3 รายในยุโรป ขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งสินค้าให้ลูกค้าทดสอบคุณภาพ และปี 2563 เป็น 4.6 แสนตัน หลังจากโรงงานที่อยู่ระหว่างก่อสร้างแล้วเสร็จ

ประธานกรรมการบริหาร กล่าวว่า บริษัทมีแผนสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ในรูปของสินค้าสำเร็จรูป ส่งขายต่างประเทศ ในปี 2564 หลังจากที่โรงงานแห่งใหม่สำเร็จแล้ว ส่วนจะเป็นสินค้าอะไรนั้น ไม่สามารถเปิดเผยได้ในขณะนี้

สำหรับปี 2562 นายชูวิทย์ เชื่อว่า ราคายางน่าจะปรับขึ้นไปอยู่ที่ 50 บาท/กิโลกรัม โดยถือว่าปี 2561 เป็นปีที่ต่ำสุดแล้ว อยู่ประมาณ 45 บาท/กก.

” ยอดขายของ NER จะโตจากราคายางที่เพิ่มขึ้นและยอดการผลิต หรือดูได้จาก กำไร : หน่วยการผลิต ส่วนมาร์จิ้นโดยเฉลี่ย 2 บาท/กก. ปี 2561 คาดรายได้ 1 หมื่นล้านบาท และปี 2562 รายได้ 1.2 หมื่นล้านบาท ”

ปัจจุบัน NER มีกำไรสะสม 500 ล้านบาท คาดว่าผลตอบแทนจากเงินปันผลจะอยู่ในเกณฑ์ที่นักลงทุนพอใจ โดย “ชูวิทย์” ให้คำนิยามหุ้น NER เป็นหุ้นเติบโตยั่งยืน ปันผลสม่ำเสมอในอัตราที่ดี

นักวิเคราะห์คาดการณ์ อัตราผลตอบแทนเงินปันผลไม่น้อยกว่า 5-6 % ซึ่งผลประกอบการปี 2561 คาดจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 40 % ของกำไรสุทธิ หรือไม่ต่ำกว่า 15 สตางค์/หุ้น