KSL ปี 61 กำไรวูบ 57% ชี้ต้นทุนพุ่ง-ปีก่อนมีรายการพิเศษ

“น้ำตาลขอนแก่น” เปิดผลงานปี 61 กำไรสุทธิ 848 ล้านบาท ลดลง 57% จากงวดปีก่อน สวนรายได้รวมเติบโต 14% เหตุต้นทุนเพิ่มและไม่มีรายการพิเศษเหมือนงวดปีก่อน

บริษัท น้ำตาลขอนแก่น (KSL) แจ้งผลการดำเนินงานประจำปี 2561 สิ้นสุดวันที่ 31 ต.ค.2561 มีกำไรสุทธิ 848.05 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.192 บาท ลดลง 57% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 1,970.39 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.447 บาท

งวดปี 2561 ที่ผ่านมาบริษัทฯ มีรายได้รวม 17,813 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีจำนวน 15,623 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณการขายปี 2561 เพิ่มขึ้นจาก 687,046 ตันในปีก่อน เป็น 1,091,228 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 59% แม้ว่าราคาขายโดยเฉลี่ยลดลงจาก 17,362 บาทต่อตัน เป็น 12,526 บาทต่อตัน

สาเหตุหลักของราคาขายเฉลี่ยลดลง มาจากความผันผวนของราคาน้ำตาลตลาดโลก ซึ่งราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงต้นปี 2560 ขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 20 เซนต์ต่อปอนด์และลดลงอย่างรวดเร็ว ในปัจจุบันราคาอยู่ที่ระดับ 12-13 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งเป็นผลมาจากผลผลิตน้ำตาลในปี 2561 ที่ทั่วโลกมีมากขึ้น ประกอบกับการลอยตัวของราคาขายน้ำตาลในประเทศในปี 2561 ที่เป็นไปตามทิศทางเดียวกับราคาน้ำตาลในตลาดโลก ส่งผลให้บริษัทมีราคาขายน้ำตาลเฉลี่ยในปี 2561 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ปริมาณขายน้ำตาลเพิ่มขึ้นจึงมีรายได้รวมเพิ่ม

ส่วนรายได้อื่นลดลง สาเหตุหลักเนื่องจากปี 2560 บริษัทย่อยแห่งหนึ่งควบรวมธุรกิจเอทานอลกับบริษัทย่อยของบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น ที่ประกอบธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งในทางบัญชีการรวมกิจการดังกล่าวเป็นการขายเงินลงทุนในบริษัทย่อยและลงทุนในบริษัทร่วมแห่งใหม่ที่ประกอบธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพแทน ทำให้บริษัทมีกำไรจากการควบรวมกิจการดังกล่าวก่อนหักภาษีจำนวน 2,370 ล้านบาท หรือ 1,896 ล้านบาทหลังหักภาษี ขณะที่ปี 2561 ไม่มีรายการดังกล่าว แต่มีรายได้อื่นๆ ส่วนใหญ่มาจากรายได้ค่าตอบแทนการผลิตและกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่เพิ่มขึ้นน้อยกว่ารายการพิเศษในปี 2560

นอกจากนี้ต้นทุนจัดจำหน่ายสูงขึ้นเมื่อเทียบช่งวงเดียวกันของปีก่อนจาก 1,519 ล้านบาท เป็น 1,886 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณการขายเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกับเนื่องจากฤดูกาลผลิตปี 2561 บริษัทมีปริมาณอ้อยเข้าหีบสูงกว่าปีก่อน จาก 6.83 ล้านตันอ้อย เป็น 11.03 ล้านตันอ้อย เพิ่มขึ้น 61% ส่งผลให้มีการใช้เงินทุนหมุนเวียนมากขึ้นและมีต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นจาก 668 ล้านบาท เป็น 728 ล้านบาท