หยวนต้า-ฟิลลิปยกน้ำหนักหุ้นแบงก์ เน้นตัวใหญ่ BBL เด่นที่สุด

นักวิเคราะห์ให้น้ำหนักหุ้นกลุ่มแบงก์มากกว่าตลาด หลังสินเชื่อพ.ย.เพิ่มขึ้นทุกธนาคาร กำไรไตรมาส 4 โต KKP ขยายตัวมากสุด ได้ไอบีหนุน แนวโน้มปีหน้าธุรกิจแบงก์เฟื่องฟู บล.หยวนต้าแนะนำ BBL-SCB บล.ฟิลลิปเลือก BBL

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย)ออกบทวิเคราะห์หุ้นกลุ่มธนาคาร ให้น้ำหนักมากกว่าตลาด โดยมี 4 เหตุผลที่สนับสนุน 1.คาดกำไรกลุ่มฯ ในไตรมาส 4 โตเด่น 17.4% รวม 4.8 หมื่นล้านบาท จากค่าใช้จ่ายสำรองลดลง แต่หดตัวจากไตรมาส 3 ประมาณ 11.3% เพราะไม่มีกำไรพิเศษ และค่าใช้จ่ายสูงตามปัจจัยฤดูกาล 2.โดย KKP เด่น เพราะคาดเป็นธนาคารแห่งเดียวที่กำไรเติบทั้งไตรมาสก่อนและระยะเดียวกันปีก่อน หนุนจากค่าธรรมเนียมวาณิชธนกิจจากการขายไอพีโอ 1) หุ้น OSP 2) กองทุน TFFIF และ 3) หุ้น PR9 3. ปี 2562 คาดธนาคารขนาดใหญ่เด่นจากสินเชื่อภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น, NIM ได้แรงหนุนจากดอกเบี้ยขาขึ้น และต้นทุนผ่านพ้นจุดสูงสุดแล้วในไตรมาส 4 และ 4) เลือก SCB และ BBL เป็น Top pick

แบงก์ใหญ่น่าสนใจจาก 1) ความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น ตามการลงทุนภาคเอกชนเพื่อขยายกำลังการผลิต และย้ายฐานการผลิตในพื้นที่ EEC ทั้งนี้ BBL มีสัดส่วนสินเชื่อธุรกิจมากสุดในกลุ่มฯ ถึง 41% ณไตรมาส 3/2561 2) NIM กลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ได้อานิสงส์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับตัวขึ้นเร็วกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 3) คาดต้นทุนทยอยปรับลดลงในปี 2562 เพราะ SCB เสร็จสิ้นแผนปรับปรุง IT และรูปแบบสาขา เป็นผลให้คาดกำไรสุทธิปี 2562 ของ SCB ฟื้นตัว 7.0% จากปีนี้ โดดเด่นสุดในกลุ่มฯ

ส่วนประเด็นที่ต้องจับตาในปี 2562 คือ ธุรกิจประกัน เนื่องจาก 1) การแข่งขันในอุตสาหกรรมที่รุนแรง ประกอบกับ 2) อัตรากำไร และส่วนแบ่งรายได้ ถูกกระทบจากการปรับเกณฑ์ตั้งสำรองผลิตภัณฑ์ Unit link นอกจากนี้ 3) กลุ่มธนาคารอยู่ในช่วงปรับตัวเพื่อรับมือกับประเด็นดังกล่าว หากผลกระทบยืดเยื้อ อาจเป็น Downside risk ต่อประมาณการรายได้ค่าธรรมเนียม (Bancassurance) และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัย

แม้ปัจจุบันเรามองว่าสินเชื่อ SME ในปี 2562 ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่หากรายได้ภาคเอกชน ทั้งภาคการเกษตร และนอกภาคการเกษตรกระจายตัวดีต่อเนื่อง ย่อมเป็นบวกต่อการบริโภคภาคเอกชน และเป็น Upside ต่อการฟื้นตัวของสินเชื่อ SME รวมถึงโอกาสการตั้งสำรองที่ลดลงได้

บล.ฟิลลิป(ประเทศไทย)ให้น้ำหนัก “ลงทุนมากกว่าปกติ” สำหรับกลุ่มแบงก์เช่นกัน หลังจากสินเชื่อเดือน พ.ย. ขยายตัวทุกธนาคาร นับว่าเป็นครั้งแรกในปี 2561 ถึงแม้ว่าการเติบโตที่ 0.75%จากเดือนต.ค. จะไม่ใช่การขยายตัวสูงที่สุดในรอบปีก็ตาม ยังเป็นรองเดือน มิ.ย. ที่สินเชื่อเติบโต 1.02% แต่ทำให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2560 เป็น 4.37%

TMB สินเชื่อเติบโตมากที่สุด 2.13% จากเดือนก่อนหน้าและ 5.49% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ส่วน SCB มีสินเชื่อเติบโตน้อยที่สุดในเดือน พ.ย. เพิ่มขึ้นเพียง 0.07% และ 3.49% ส่วน KKP ยังคงเป็นธนาคารที่มีสินเชื่อเติบโตสูงที่สุดในปี25 61 โดยเพิ่มขึ้น 15.73%

“ผลงานไตรมาส 4 อาจจะไม่ได้เติบโตจากไตรมาส 3 เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่มักจะเข้ามามากในช่วงปลายปี แต่มองว่าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ต่าง ๆ น่าจะเข้ามามากขึ้นในปี 2562 จะทำให้สินเชื่อเติบโตต่อได้ ยังคงเลือก BBL เป็นหุ้น Top pick ของกลุ่มเนื่องจากความเชี่ยวชาญทางด้านสินเชื่อขนาดใหญ่”บล.ฟิลลิประบุ