ความจริง ความคิด : เริ่มปีใหม่ วางแผนภาษีอย่างไรดี

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP


ปี 2562 ก็จะเป็นปีสุดท้ายที่จะลดหย่อนภาษีด้วย LTF ได้แล้ว ยังไม่รู้ว่าสรรพากรจะให้ลดหย่อนตัวไหนแทนได้บ้าง แต่ก็มีข่าวสรรพากรจะปรับปรุงระบบภาษีใหม่ สรุปได้เป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้ครับ

1. การยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปรับให้ประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปต้องยื่นแบบภาษีเงินได้ไม่ว่าจะมีเงินได้หรือไม่ จากเดิมถ้ารายได้ในปีนั้นต่ำกว่า 120,000 บาทขึ้นไป ไม่ต้องยื่นแบบภาษี แต่ถ้าอายุไม่ถึง 18 ปีแต่รายได้ในปีนั้น 120,000 บาทขึ้นไปต้องยื่นภาษีครับ

2. ปรับประเภทเงินได้ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะปรับเงินได้ให้เหลือเพียง 3 ประเภท ได้แก่
– เงินได้จากน้ำพักน้ำแรง (เดิมคือ เงินได้มาตรา 40(1)และ(2))
– เงินได้จากทรัพย์สินและการลงทุน (เดิมคือ เงินได้มาตรา 40(3)และ(4))
– เงินได้จากธุรกิจและอื่นๆ (เดิมคือ เงินได้มาตรา 40(5)ถึง(8))

3. นอกจากนี้ ยังจะปรับให้หักค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น ก็หวังว่าจะกำหนดให้หักค่าใช้จ่ายได้เป็นเปอร์เซนต์ของเงินได้ทุกมาตราไม่มีเพดาน เพราะจากเดิม ม. 40(1) รวมกับ ม. 40(2) หักค่าใช้จ่ายได้แค่ 50% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ทำให้คนที่มีเงินได้ ม. 40(1) และ (2) ต้องเสียภาษีที่มากกว่าเงินได้ประเภทอื่นทั้งที่ค่าใช้จ่ายในการหาเงินได้ไม่ได้แตกต่างกันเลย

4. ปรับเพดานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเดิมเพดานอยู่ที่ 35% จะปรับให้เป็น 25% และปรับช่วงรายได้ให้กว้างขึ้น ก็น่าจะดี เพราะถ้าเทียบกับการหาเงินได้ในรูปนิติบุคคล ซึ่งนิติบุคคลต้องเสียภาษีจากกำไรเป็นอัตรา 20% เช่นบริษัทได้กำไร 100 บาท บริษัทต้องเสียภาษี 20 บาท เหลือ กำไรสุทธิหลังภาษี 80 บาทและเมื่อบริษัทจ่ายเงินปันผล 80 บาทมาให้เจ้าของธุรกิจ จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายอีก 10% (8 บาท)ดังนั้นผู้ถือหุ้นก็จะได้เงินสุทธิ 72 บาท ซึ่งหมายความว่า เจ้าของธุรกิจมีภาระภาษีที่จะต้องเสียทั้งหมด 28% น้อยกว่าการหาเงินได้ในรูปบุคคลธรรมดาที่ต้องเสียภาษีอัตรา 35% ถึง 7% ทำให้หลายคนปรับรูปแบบการหาเงินได้มาเป็นนิติบุคคล เพราะประหยัดภาษีกว่า

5. เมื่อเดิมเจ้าของธุรกิจมีภาระภาษี 28% ก็จะมากกว่าบุคคลธรรมดาที่จะปรับเพดานภาษีเป็น 25% ดังนั้นเพื่อความยุติธรรม ก็จะปรับลดภาระภาษีของนิติบุคคลจาก 28% ให้ลดลงเหลือ 25% เช่นกัน

6. ปรับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากเดิมกำหนดให้บุคคลหรือนิติบุคคลที่มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้เป็นปัญหาสำหรับผู้มีเงินได้มาตรา 40(2) – (8) ที่ไม่อยากจด VAT เพราะมันยุ่ง ก็จะพยายามทำรายได้ให้ไม่เกิน 1.8 ล้าน โดยกระจายหรือเอาไปหลบในชื่อคนอื่น แบบใหม่จะปรับรายได้เป็นอย่างน้อย 10 ล้านบาทต่อปี ถึงจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ถ้านิติบุคคลมีรายได้ไม่เกิน 10 ล้าน แม้ไม่ต้องเสียภาษี vat 7% แต่ก็ต้องเสียภาษีใหม่ 2% จากรายได้แทน

7. ภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยจะยกเลิกภาษีธุรกิจเฉพาะ 0.1% จากรายรับของการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์

8. ยกเลิกภาษีอากรแสตมป์ทั้งหมด เพราะจัดเก็บได้น้อย ยุ่งยาก และซ้ำซ้อนกับภาษีประเภทอื่นๆ แถมค่าใช้จ่ายในการติดตามตรวจสอบ ยังสูงกว่าภาษีที่เก็บได้เสียอีก

เมื่อกฎหมายมีแนวโน้มจะเปลี่ยนดังนี้ แต่การเมืองก็จะเปลี่ยนด้วย เลยไม่แน่ใจว่าสุดท้ายกฎหมายจะเปลี่ยนไปหน้าตายังไง เมื่อความไม่แน่นอนยังสูง ประชาชนอย่างเราทั้งมนุษย์เงินเดือนและเจ้าของธุรกิจก็คงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่าท้ายที่สุดแล้วกฎหมายภาษีสรรพากรรูปแบบใหม่จะออกมาอย่างไร แล้วค่อยวางแผนครับ