SAAM ขายโรงไฟฟ้าญี่ปุ่นสิ้นปี หนุนกำไรเข้าเป้านักวิเคราะห์ 55-60 ล.

หุ้นน้องใหม่ “เอสเอเอเอ็มฯ” ยืนยันขายโรงไฟฟ้าชีวมวลในญี่ปุ่นสำเร็จ 1 โครงการปลายปีนี้ หนุนกำไรและรายได้เติบโต ส่วนอีก 1 โครงการ รอปี 2563 ผู้บริหารเผยราคาหุ้นวันแรกต่ำกว่าจอง นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในหุ้นไอพีโอโดยรวม เชื่อมั่นปัจจัยพื้นฐานที่ดี โครงการเดินหน้าเป็นไปตามแผน

นายพดด้วง คงคามี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสเอเอเอ็ม เอ็นเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ (SAAM) เปิดเผยว่า บริษัทมีตกลงเบื้องต้นกับผู้ลงทุน 2 รายที่จะซื้อโรงไฟฟ้าชีวมวลในญี่ปุ่น 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ SAAM Oita 01 Biomass Power และโครงการ SAAM Oita 02 Biomass Power ซึ่งแต่ละโครงการมีกำลังการผลิตติดตั้ง 19.9 เมกะวัตต์ (MW) โดยเป็นผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าในไทย และญี่ปุ่น คาดว่าปลายปีนี้จะโอนได้ 1 โครงการ ส่วนอีก 1 โครงการจะดำเนินการภายในปี 2563

“จากบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ 3 ราย ได้แก่บล.ทรีนีตี้, บล.ฟินันเซีย ไซรัส และบล.โนมูระ พัฒนสิน ได้ประเมินกำไรของบริษัทในปี 2562 อยู่ที่ 55-60 ล้านบาท หากเราทำได้ตามแผน ก็เชื่อว่าจะเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์ได้ประเมินไว้ ขณะที่ในปี 2561 บริษัทมีกำไรลดลง เนื่องจากมีรายจ่ายจากการนำบริษัทเข้าตลาดหุ้น แต่เป็นค่าใช้จ่ายเพียงครั้งเดียว”นายพดด้วง กล่าว

ทั้งนี้ SAAM ในไตรมาส 3/2561 มีกำไรสุทธิ 1.66 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนกำไรสุทธิ 5.65 ล้านบาท ส่วนงวด 9 เดือน/2561 มีกำไรสุทธิ 13.63 ล้านบาท ช่วงเดียวกันปีก่อน มีกำไรสุทธิ 16.69 ล้านบาท

นายพดด้วง กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าจะมีกำลังการผลิตติดตั้งจากต่างประเทศอยู่ที่ 100 MW ภายในปี 2563 จากปัจจุบันมีอยู่เกือบ 40 MW ในญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาโครงการที่จะพัฒนาเพิ่มขึ้นอีก 6 โครงการในญี่ปุ่น ซึ่งนอกจากโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลแล้ว ก็ยังศึกษาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม และโรงไฟฟ้าใต้ภิภพอีกด้วย

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะเข้าร่วมทุนในโรงงานเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง ซึ่งมีการเจรจากับผู้ร่วมทุนที่จะเข้ามาเป็นพันธมิตรในไทย 1 ราย และต่างประเทศ 1 ราย โดยในไทย บริษัทจะเข้าร่วมถือหุ้นในสัดส่วนประมาณ 40% ใช้เงินลงทุนประมาณ 50 ล้านบาท จะมีรายได้จากการขายโครงการ, ค่าเช่าที่ดิน และค่าให้บริการเกี่ยวการส่งมอบวัตถุดิบ เป็นระยะเวลา 20 ปี เพื่อป้อนให้แก่โครงการที่ขาย หากยังมีเงินทุนเหลือก็มีการทำสัญญาว่าสามารถซื้อหุ้นคืนในโครงการดังกล่าว ในสัดส่วนที่ไม่มาก ซึ่งจะทำให้บริษัทมีรายได้จากโครงการเข้ามาเพิ่ม

ทางด้านราคาหุ้น SAAM ที่ราคาปรับตัวลดลง ต่ำกว่าราคาจองที่ 1.80 บาทต่อหุ้น นายพดด้วงกล่าวว่า เนื่องจากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นไอพีโอ โดยรวม เมื่อราคาเปิดปรับตัวลงมาต่ำกว่าจอง จึงทำให้นักลงทุนที่ถือหุ้นไว้มีความกังวลจึงได้ขายหุ้นออกมา

“นักลงทุนรับรู้ว่าตลาด IPO ไม่ดี โดยเห็นได้จากช่วงปลายปีก่อน เขาไม่รู้ว่าบริษัทเป็นงัย ทุกคนมีต้นทุนที่เท่ากัน แต่เมื่อราคาหุ้นเปิดมาต่ำกว่าจอง ก็ทำให้นักลงทุนตกใจ ขายหุ้นออกมา ในส่วนของผม และน้องชายยังถือหุ้นอยู่รวมกันประมาณ 74% “ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SAAM กล่าว

SAAM เข้าซื้อขายในตลาด mai ประเดิมตัวแรกของปี 2562 ปิดที่ 1.52 บาท ลดลง 0.28 บาท หรือ -15.56% จากราคาไอพีโอหุ้นละ 1.80 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 95.34 ล้านบาท จากราคาเปิดที่ 1.70 บาทและสูงสุด 1.75 บาท ต่ำสุดอยู่ที่ 1.51 บาท