BDMS เป้าใหญ่ถล่มหุ้นรพ. อึมครึมคุมราคา กดดันราคาช่วงสั้น

หุ้นไทยยืน 1,600 จุด ไม่อยู่ ร่วงสวนทางตลาดเมืองนอก ภาคบ่ายนักลงทุนเทกระจาดหุ้นโรงพยาบาลรูดหนัก ตื่นรัฐควบคุม BDMS ดิ่งแรง 8% กดดัชนีติดลบ 3 จุด เจ็บหนักสองเด้ง THG-LPH ยันไม่กระทบ นักวิเคราะห์แนะหลีกเลี่ยงในระยะสั้น บล.เมย์แบงก์ฯระบุทุกๆ 5% ของราคายาที่ลดลง กระทบกำไรประมาณ 10% ส่วน TU-CFRESH ยืนบวกแข็งแกร่ง 5% รับอียูปลดธงเหลือง มีแรงเก็บหุ้นรับเหมา เก็งรัฐ เอกชนขยายการลงทุน

วันที่ 9 ม.ค.2562 ตลาดหุ้นไทยเปิดบวกตามต่างประเทศ แรงซื้อหนุนดัชนีขึ้นไปสูงสุด 1,609.39 จุด แต่มีแรงขายทำกำไรเป็นระยะๆ โดยเฉพาะในช่วงบ่าย ดัชนีปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว หลังกกร.มีมติเพิ่ม ยาและเวชภัณฑ์ เข้าบัญชีสินค้าควบคุมปี 2562 ส่งผลกระทบต่อหุ้นโรงพยาบาลระดับพรีเมี่ยมโดยตรง นำโดย BDMS ตามด้วย BH และ SVH พลิกภาวะตลาดไหลลงมาติดลบ 3.50 จุด ปิดที่ 1,590.50 จุด มูลค่าการซื้อขาย 46,576.27 ล้านบาท

สำหรับ BDMS ปิดที่ 22.70 บาท รูดลง 2 บาท หรือ 8.10% มีผลต่อดัชนีติดลบ 3.08 จุด มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดของวัน มากถึง 6,000 ล้านบาท BH ปิด 176 บาท ร่วง 16.50 บาทหรือ 8.57% มีผลดัชนีติดลบ 1.15 จุด

ส่วนกลุ่มอาหาร รับข่าวดี อียูปลดธงเหลือง เปิดโอกาสให้อาหารทะเลไทยส่งออกไปขายทั่วโลกได้ดีขึ้น TU ปรับตัวขึ้นแรง 0.80 บาทหรือ 4.91% ปิดที่ 17.10 บาท CFRESH ดีดขึ้น 5.50% หรือ 0.22 บาท ปิดที่ 4.22 บาท ส่วน AOT บวก 1 บาท ขยายเวลาให้ฟรี VOA ถึงวันที่ 30 เม.ย. รวมถึงตลาดยังมีข่าวดีจากการขอบีโอไอในปี 2561 มากถึง 9 แสนล้านบาท ทะลุเป้าหมาย 25% คาดว่าปีหน้ายังมีความต้องการลงทุนมากขึ้น

นักวิเคราะห์บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย) วิเคราะห์ว่า หุ้นโรงพยาบาลยังมีความไม่แน่นอนในหลายประเด็น เช่น คุมค่ารักษาพยาบาลอย่างไรให้เท่าเทียม ประเภทของคนไข้และกำไรกลุ่มโรงพยาบาลเฉลี่ย 15%ไม่ได้สูงมากนัก จึงต้องรอการยืนยันรายละเอียดและแนวทางปฎิบัติจากคณะกรรมการ ก่อนเสนอเข้าครม. ในวันที่ 22 ม.ค. 2562

นอกจากนั้นแรงขายหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลยังมีอีกสาเหตุ คือ พี/อีสูงถึง 35 เท่า ขณะที่หุ้นหลายๆกลุ่มที่เคยซื้อขายในระดับเดียวกันถูกแรงขายกันมาก่อนหน้านี้

จากการวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่าปัจจุบันรายได้ค่ายาคิดเป็น 35% ค่าหมอ 20% โดยทุกๆ 5% ของราคายาที่ลดลงจะส่งผลต่อกำไรประมาณ 10%

“เราคาดหุ้นกลุ่มโรงพยายาลจะยังคงถูกแรงกดดันจนกว่าจะได้รายละเอียด สำหรับคนรับความเสี่ยงได้สูง หากราคาหุ้นปรับลงมามาที่แนวรับ อาจเป็นโอกาสในการทยอยสะสม เพราะคาดผลกระทบไม่ได้แย่มาก”บล.เมย์แบงก์ฯระบุ

ทั้งนี้ BDMS ถูกขายออกมาก เพราะบริษัทมีการลงทุนซื้อโรงพยาบาลหลายแห่ง แต่เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวเงินลงทุนในช่วงนี้ กลับถูกควบคุมราคาค่าบริการและบริษัทยังมีการซื้อกิจการ เซฟดรัก เซ็นเตอร์ สูงถึง 3820 ล้านบาท มาเปิดร้านขายยาและสินค้าเพื่อสุขภาพในเครือ BDMS ด้วย

บล. ดีบีเอส วิคเคอร์สวิเคราะห์ว่าประเด็นนี้ เป็นลบต่อกลุ่มโรงพยาบาลโดยรวม โดยเฉพาะระดับพรีเมี่ยม ได้แก่ BDMS, BHม BCH ระยะนี้แนะนำให้ชะลอการลงทุนก่อน

บล.ทรีนีตี้ ประเมินคุมราคายา ฯ กระทบ BH และ BDMS กดดันอัตราการทำกำไร ส่วนโรงพยาบาลรับผู้ป่วยประกันสังคม อาทิ BCH และ CHG กระทบน้อย มองราคาหุ้นร่วงหนัก น่าสนใจลงทุนระยะยาว เนื่องจากความต้องการรักษาทางการแพทย์ยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากอายุเฉลี่ยของประชากรที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับค่ารักษาพยาบาลในประเทศไทยยังต่ำกว่าในต่างประเทศ ส่งผลให้ Medical Tourism ยังคงสามารถดึงดูดชาวต่างชาติให้เข้ามารักษาเพิ่มขึ้น

บล.ฟินันเซีย ไซรัส มองว่าเป็น Sentiment ลบต่อกลุ่มการแพทย์โดยรวม แต่เชื่อว่าโรงพยาบาลจะมีวิธีการปรับตัว โดยหุ้นเด่นยังเป็นหุ้น BDMS ราคาพื้นฐาน 30 บาท และหุ้นบริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) ราคาพื้นฐาน 21 บาท

ทางด้าน นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริษัท บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) บริหารโรงพยาบาลในเครือโรงพยาบาลธนบุรี มองว่า ระบบรักษาพยาบาลของไทย ควรมีการจัดแบ่งเกรดผู้ป่วยให้ชัดเจน โดยแต่ละโรงพยาบาลควรจะกำหนดค่าบริการให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อค่ายา และเวชภัณฑ์ ซึ่งกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี คิดค่าบริการที่ถูกกว่าโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ประมาณ 30%

“ผมมองว่าแต่ละโรงพยาบาลควรกำหนดค่าบริการ รวมถึงค่าห้องพัก ซึ่งไม่ได้ควบคุม เหมือนกับค่าเหยียบแผ่นดิน หากโรงพยาบาลใหญ่และเป้าหมายลูกค้าต่างชาติเป็นหลักก็เก็บค่าเหยียบแผ่นดินสูง ส่วนโรงพยาบาลที่เล็กลงมาหน่อยก็เก็บถูกหน่อย ผู้ป่วยสามารถตัดสินใจได้ว่าจะใช้โรงพยาบาลใด ขณะที่ราคายาและเวชภัณฑ์ก็ควบคุมไป สำหรับค่าหมอ ควบคุมไม่ได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาล”นายแพทย์บุญ กล่าว

ประธานกรรมการบริษัท THG กล่าวว่า กลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี ไม่ได้รับผลกระทบต่อการที่รัฐจะควบคุม เพราะมีต้นทุนไม่สูง เนื่องจากใช้ระบบ AI หรือระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วย

นายอังกูร ฉันทนาวานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโรงพยาบาลลาดพร้าว(LPH) กล่าวว่า ราคายาสำหรับผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลลาดพร้าว ถือว่าไม่สูงและน่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่รัฐกำหนดไว้ เช่นเดียวกับค่ารักษาพยาบาล เพราะไม่ได้ปรับขึ้นมาเป็นเวลา 2-3 ปีแล้ว โดยรวมจึงไม่น่าจะได้รับผลกระทบ หรือหากได้รับผลกระทบก็ไม่มาก ยกเว้นยาเฉพาะด้าน ที่มีราคาสูง แต่มีการใช้น้อย ทำให้มีในสต็อกไม่มาก

นายอังกูร กล่าวว่า โรงพยาบาลลาดพร้าวมีแผนที่จะขอเพิ่มโควต้าผู้ป่วยประกันสังคม เนื่องจากมีพื้นที่ให้บริการที่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันนี้มีผู้ป่วยจากประกันสังคม 1.6 แสนคน ซึ่งเต็มโควต้าแล้ว