บล.กสิกรไทยยกระดับแนวต้าน 1,610 และ 1,620 จุด

ค่ายกสิกรไทย คาดตลาดหุ้นสัปดาห์ถัดไป จับตาผลประกอบการกำไรบจ.ไตรมาส 4/2561 จากที่ผ่านมา บวก 1.39% แม้มีแรงขายกลุ่มโรงพยาบาล สื่อสาร ออกมาอย่างหนัก ค่าเงินบาทแตะระดับแข็งค่าในรอบ 7 ปี ครั้งใหม่ 31.87 บาท/ดอลลาร์ ดอลลาร์สหรัฐอ่อนตามแรงกดดันหลายปัจจัย

บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย คาดการณ์แนวโน้มตลาดหุ้นในสัปดาห์ถัดไป (14-18 ม.ค.)ดัชนีหุ้นมีแนวรับที่ 1,585 และ 1,575 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,610 และ 1,620 จุด ตามลำดับ

ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 4/2561 ของบริษัทจดทะเบียน และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดระดับสูง ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค. รวมถึงผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนม.ค. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนธ.ค. ของประเทศในแถบยุโรปและญี่ปุ่น

สัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นปิดที่ระดับ 1,597.04 จุด เพิ่มขึ้น 1.39% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 10.34% มาที่ 45,188.84 ล้านบาท ทั้งนี้ดัชนีขึ้นสูงสุดที่ 1,609 จุด ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai เพิ่มขึ้น 1.36% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 361.97 จุด

ทั้งนี้ สถาบันซื้อหุ้นสุทธิ 4,590 ล้านบาท ต่างชาติขาย 1,457 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยขาย 2,843 ล้านบาท กลุ่มนำตลาดโดยดัชนีพลังงานเพิ่มขึ้น 5.65% ขณะที่ได้รับแรงกดดันจากแรงขายหุ้นในกลุ่มโรงพยาบาล หลังกกร.มีมติเพิ่มรายการสินค้ายาและเวชภัณฑ์ในบัญชีสินค้าควบคุมปี 2562 ขณะที่หุ้นกลุ่มสื่อสาร หลังมีข่าวการทำสัญญาระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาสัมปทานของบริษัทสื่อสารรายใหญ่แห่งหนึ่ง อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ ฟื้นตัวกลับมาได้ช่วงปลายสัปดาห์ ตามทิศทางตลาดต่างประเทศ หลังประธานเฟดยังคงระบุถึงความอดทนต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในปีนี้

ทางด้านเงินบาทสัปดาห์ถัดไป ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวที่ 31.80-32.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยตลาดรอติดตามผลการโหวตร่างข้อตกลงว่าด้วยการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปของรัฐสภาอังกฤษ รวมถึงสถานการณ์ชัตดาวน์และสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯ

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือนครั้งใหม่ที่ 31.87 บาทต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางแรงกดดันเงินดอลลาร์ฯ ที่มาจากหลายด้าน โดยเฉพาะสัญญาณชะลอจังหวะการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด นอกจากนี้ การแข็งค่าของสกุลเงินในภูมิภาค และเงินหยวน ก็เป็นปัจจัยที่หนุนการแข็งค่าของเงินบาทด้วยเช่นกัน เมื่อวันศุกร์ (11 ม.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.90 เทียบกับระดับ 32.08 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (4 ม.ค.)