รายงานพิเศษ : หุ้นปี’ 61 เม่าจน เจ้าของรวยอู้ฟู่

ในปี 2561 เป็นปีที่นักลงทุน โดยเฉพาะรายย่อย ต้องไม่ลืมอีกปีหนึ่ง เลือดสาดกันถ้วนหน้า จากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ สูงถึง 287,696 ล้านบาท ทำให้ดัชนีหุ้นเหวี่ยงขึ้นและลงรุนแรงเกือบ 300 จุด ใครจะคาดคิดว่าหุ้นต้นปีทะยานขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อน หนุนให้ตลาด เดือนม.ค. ไต่ขึ้นไปสูงสุด 1,838 จุด และมีการเก็งกำไรกันสนั่น หวังว่าจะไปต่อ ไกลถึง 1,900-2,000 จุด แต่“ฝันสลาย” หลังจากนั้นเจอแรงขายหุ้นทั่วเอเชีย ตลาดกลับปักหัวลงไปลึกสุดที่ 1,543 จุด ก่อน ปิดสิ้นปีระดับ 1,563.88 จุด ดิ่งลง 10.8% จากสิ้นปี 2560

อย่างไรก็ตาม มีนักลงทุนกลุ่มหนึ่งที่มีกำไรมหาศาล นั่นก็คือเจ้าของบริษัทจดทะเบียน(บจ.)หรือผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่สบโอกาสขายหุ้นบิ๊กล็อตได้ในราคาสูงมาก

ทั้งนี้ เป็นเรื่องปกติที่เจ้าของตัดหุ้นบิ๊กล็อตออกมาขายให้กับนักลงทุนสถาบันรวมถึงรายบุคคล ทั้งและต่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงตลาดหุ้นขาขึ้น และยุคทองของธุรกิจ เพราะนอกจากมีกำไรเป็นกอบเป็นกำแล้ว ยังมีสตอรี่ให้หุ้นเป็นที่สนใจของนักลงทุนอีกด้วย เพราะการเพิ่มฐานผู้ลงทุนประเภทสถาบัน ที่มีเป้าหมายลงทุนระยะยาว ช่วยสร้างเสถียรภาพของราคาหุ้น และยังเพิ่มสภาพคล่องของการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯอีกด้วย

เปิดฉากปีระกา วันที่ 16 ม.ค. 2561 เจ้าของบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป(M) หรือสุกี้ เอ็มเค นายฤทธิ์ ธีระโกเมน นางยุพิน ธีระโกเมน และนายสมชาย หาญจิตต์เกษ แบ่งหุ้นออกมาขายคนละ 17 ล้านหุ้น รวมทั้งหมด 51 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 5.54% ในราคาหุ้นละ 83 บาท ได้เงินรวมทั้งสิ้น 4,223 ล้านบาท ตกคนละ 1,411 ล้านบาท ปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่แต่ละคน ยังคงมีหุ้นอยู่ในมือสูงกว่า 10 % หรือมากกว่า 100 ล้านหุ้น ขณะที่ราคาหุ้นปรับตัวลงมาอยู่ที่ 74.25 บาท

ในปี 2561 ถือว่าเป็นปีทองของหุ้นธุรกิจความสวยความงาม พระเอกคือ บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ หรือ BEAUTY เมื่อนักลงทุนเห็นผลการดำเนินงานเติบโตก้าวกระโดด ในปี 2560 มีกำไรสุทธิ พุ่งขึ้น 87% เป็น 1,229 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 573 ล้านบาทจากปี 2559 ที่มีกำไรสุทธิ 656 ล้านบาท เมื่อวันที่ 13 มี.ค. นายสุวิน ไกรภูเบศ และนาง ธัญญาภรณ์ ไกรภูเบศ ได้จังหวะขายหุ้นจำนวน 140 ล้านหุ้น คิดเป็น 4.66% ได้เงินสดๆมากอดไว้จำนวน 2,632 ล้านบาท ผ่านวิธีการสำรวจความต้องการซื้อของนักลงทุนในวงจำกัดแบบข้ามคืนหรือ Overnight Global Bookbuilding Transaction กับนักลงทุนสถาบันในและต่างประเทศรวมถึงรายใหญ่ ได้ราคาดีทีเดียว 18.80 บาทต่อหุ้น แต่ไม่ใช่ราคาที่ขึ้นไปสูงสุดรอบนี้ 23.70 บาท โดยนายสุวินยังมีหุ้นเหลืออยู่ 15.11% และนางธัญญาภรณ์มีหุ้นจำนวน 6.13% รวมทั้งหมด 21.23%

แต่เมื่อสถานการณ์พลิกผัน ลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทบิวตี้ฯ คือนักท่องเที่ยวจีน ไม่มาท่องเที่ยวเมืองไทยมากเหมือนแต่ก่อน และเศรษฐกิจของจีนก็มีการชะลอตัวลง รวมถึงกระแสข่าวลือต่างๆ นานา อาทิ เรื่องการเติบโตมาจากออเดอร์ปลอมในประเทศจีน ซัพพลายเออร์โรงงานรับจ้างผลิตให้บริษัทไม่ผ่านมาตรฐาน อย. รวมถึง นายสุวินและกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่จะขายหุ้นเพิ่ม จะทิ้งบริษัท เพราะมีปัญหาเรื่องสุขภาพ เมื่อรวมกับการให้สัมภาษณ์ ที่ไม่ชัดเจนของ นายสุวิน ผู้บริหารเบอร์ 1 ของบิวตี้ ได้สร้างความตื่นตระหนกกับหุ้น BEAUTY เต็มเปา กดดันราคาหุ้นให้ไหลลงอย่างรวดเร็ว มาอยู่ที่ 7-8 บาท จนคณะกรรมการบริษัทเมื่อเดือนก.ค. ต้องมีมติอนุมัติเปิดโครงการรับซื้อหุ้นคืนจากตลาดหลักทรัพย์ จำนวน 64 ล้านหุ้น คิดเป็น 2.13 % โดยอนุมัติวงเงินทั้งสิ้น 950 ล้านบาท เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของผู้ถือหุ้นและนักลงทุนกลับคืนมา

การขายหุ้นบิ๊กล็อตของเจ้าของ ในปี 2561 จะไม่เขียนถึงหุ้น บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น หรือ SAWAD คงเป็นไปไม่ได้ เพราะราคาหุ้นผันผวนสูงมาก จากเมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา น.ส.ธิดา แก้วบุตตา และ นายฉัตรชัย แก้วบุตตา ได้แบ่งขายหุ้นคนละ 27.18 ล้านหุ้น หรือ 2.5 % ในราคาเฉลี่ย 63.75 บาท/หุ้น มูลค่าประมาณ 3,465.45 ล้านบาท ให้กับ Cathay Financial Holdings ผู้ให้บริการทางการเงินรายใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไต้หวัน แต่เมื่อมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น ลูกค้ารายหนึ่งผิดนัดชำระหนี้ เกิดปัญหาเอ็นพีแอลจนส่งผลกระทบให้กำไรสุทธิลดฮวบ ทุบราคาหุ้นเละ หายไปมากกว่า 50% ร่วงลงไปต่ำสุดแตะ 28.50 บาท โดยเจ้าของและผู้บริหารเข้ากอบกู้สถานการณ์ ทั้งการเข้าไปซื้อหุ้นจากตลาดหลักทรัพย์หลายรายการ ลูกหนี้นำเงินมาชำระหนี้แก้ไขเอ็นพีแอล สร้างผลกำไรกลับคืนมาดีกว่าที่ผ่านมา ราคาหุ้นค่อยๆดีขึ้น ซื้อขายใกล้ ๆ 50 บาท ขณะที่ Cathay Financial Holdings ยังมีความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในหุ้น SAWAD ในระยะยาว และเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 57 ล้านหุ้น หรือ 4.73% ในราคาหุ้นละ 45 บาท ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น ประมาณ 2,565 ล้านบาท

สำหรับการขายหุ้นบิ๊กล็อตที่ฮือฮาแห่งปี 2561 ต้องยกให้ นายประเดช กิตติอิสรานนท์ ที่ประกาศเป้าหมายการขายหุ้น บริษัทซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER)ที่ถืออยู่ทั้งหมด 10% เพื่อต้องการนำเงินไปลงทุนในบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง โดยรินขายในตลาดหลักทรัพย์ กดราคาหุ้นร่วงแรงผิดปกติ จนนายจอมทรัพย์ โลจายะ ต้องกระโดดเข้ามารับซื้อตั้งแต่เดือนเม.ย.จนถึงพ.ค. รวมทั้งหมด 2,677 ล้านหุ้น ในราคาเฉลี่ย 1.18 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,159 ล้านบาท ปัจจุบันราคาหุ้นลงมาเหลือ 0.54 บาทต่อหุ้นเท่านั้น

ส่วนรายที่ขายบิ๊กล็อตได้เงินมากที่สุด คือ บริษัทซีพีออลล์(CPALL) ขายหุ้นบริษัท สยามแม็คโคร( MAKRO)จำนวน 230 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 44 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น 10,130.91 ล้านบาท

ส่วนเจ้าของบริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ (ORI)นายพีระพงศ์ จรูญเอก และนาง อารดา จรูญเอก ยังคงขายหุ้นบิ๊กล็อตออกมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2561 ขายจำนวน 14 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 18.10 บาท มูลค่ารวม 253.40 ล้านบาท หลังจากในปี 2560 มีการทำบิ๊กล็อตอย่างน้อย 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2560 จำนวน 12 ล้านหุ้นหรือ 1% ในราคาหุ้นละ 11.30 บาทให้กับกองทุนต้นโพธิ์ และวันที่ 29 มี.ค.ขายอีกจำนวน 16 ล้านหุ้น หรือ 1.45% ราคาหุ้นละ 11.30 บาท มูลค่า 180.80 ล้านบาท ให้กับ บริษัททุนภัทร

อย่างไรก็ตาม เมื่อภาวะตลาดหุ้นปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบจากมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ในการคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อซื้อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ ส่งผลให้ราคาหุ้น ORI ปรับตัวลงแรง ซื้อขายบริเวณ 6-7 บาท นางอารดาได้เข้าไปซื้อในตลาดหลักทรัพย์จำนวนมาก และยังคงเก็บหุ้นเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาถึงปี 2562 ได้ราคาต่ำกว่า 50% ของราคาที่ขายบิ๊กล็อตไปในปีที่ผ่านมา

เช่นเดียวกับเจ้าของบริษัทจดทะเบียนที่เคยขายหุ้นบิ๊กล็อตไปก่อนหน้านี้ เช่น นายอิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ และครอบครัวได้ขายหุ้นบริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง (TKN)ออกไปหลายล็อต ในระหว่างปี 2559-2561 รวมมูลค่าหลายพันล้านบาท เช่นเมื่อปลายปี 2559 ขายจำนวน 35 ล้านหุ้น คิดเป็น 2.54% ในราคาหุ้นละ 25.50 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 892 ล้านบาท เดือนมี.ค. 2560 ขายอีกล็อต ราคาเฉลี่ย 27 บาท เป็นเงินจำนวน 810 ล้านบาท เดือนพ.ย. 2560 ขายราคา 24.25 บาท รับเงิน 606 ล้านบาท

การขายหุ้นบิ๊กล็อตยังคงอยู่คู่ตลาดหุ้นไทย และคาดว่าจะดีลมากขึ้นในปี 2562 และในอนาคต เพราะการเข้ามาซื้อหุ้นล็อตใหญ่ หรือการซื้อหุ้นแบบเฉพาะเจาะจงล็อตใหญ่ๆ มีวัตถุประสงค์เกิดขึ้นใหม่ หนึ่งในนั้น คือเข้าตลาดหุ้นทางอ้อม ซึ่งกำลังเป็นที่นิยม ในภาวะที่เข้าทางตรอกออกทางประตู “ยากขึ้น” ในขณะเดียวกัน เจ้าของที่ขายหุ้นบิ๊กล็อตออกไปก่อนหน้านี้ ได้ราคาที่ดี ก็หันกลับมาซื้อหุ้นคืน เนื่องจากราคาหุ้นในปัจจุบันลงมาเยอะมาก หากนักลงทุนทำการบ้านดีๆ จะมีโอกาสซื้อหุ้นดักไว้ล่วงหน้า จะได้กำไรสูงๆ เช่นเดียวกับเจ้าของบริษัทจดทะเบียน