“กรุงไทย” เชื่อเงิน LTF ไม่มีผลกับตลาดหุ้น มั่นใจแม้ไม่ได้สิทธิภาษีก็ยังลงทุนต่อ

Krungthai Macro Research ประเมินเงินเข้าออกกองทุน LTF ไม่มีผลกับดัชนีหุ้นไทย มั่นใจนักลงทุนยังลงทุนตลาดหุ้นต่อ แม้จะไม่หมดสิทธิลดหย่อนภาษีแล้ว พบกลุ่มผู้มีรายได้สูงอาจบริโภคลดลง 3-3.7% หลังจากต้องเสียภาษีเพิ่ม

ดร.กิตติพงษ์ เรือนทิพย์ รองผู้อำนวยการฝ่าย สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า จากข้อมูลยอดซื้อสุทธิกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ในช่วงปี 2554 – 2560 พบว่า การเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET index) กับ ยอดซื้อสุทธิในกองทุน LTF ไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกันมากนัก

“เมื่อดูมูลค่าการซื้อขายสุทธิ LTF กับการเปลี่ยนแปลงของ SET ในช่วงไตรมาส 1 และ 4 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการซื้อขาย LTF มากที่สุด พบว่า ในช่วงไตรมาส 1 ที่มีการขายสุทธิ LTF แต่ SET ไม่ได้ลดลง ขณะที่ไตรมาส 4 ที่มีการซื้อ LTF เข้ามามากก็ไม่ได้ทำให้ตลาดหุ้นขึ้น ดังนั้นการบอกว่า ยอดซื้อ LTF ช่วงพยุงตลาดหุ้นก็อาจจะไม่ถูกต้องมากนัก” ดร.กิตติพงษ์ กล่าว

นอกจากนี้ ดร.กิตติพงษ์ กล่าวอีกว่า มูลค่ากองทุน LTF เมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดหุ้นถือว่ามีสัดส่วนน้อยมาก โดย LTF มีขนาดรวมกันทั้งอุตสาหกรรมประมาณ 3.8 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.36% ของมูลค่าตลาดหุ้นไทยที่มีขนาด 16 ล้านล้านบาท ขณะที่ช่วงปี 2558 – 2560 มียอดซื้อ LTF ยอดซื้อเฉลี่ย 6 หมื่นล้านบาทต่อปี และยอดซื้อสุทธิเฉลี่ยปีละ 2.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 1.8% ของยอดซื้อนักลงทุนสถาบันเท่านั้น

พร้อมกันนี้ ดร.กิตติพงษ์ กล่าวว่า เมื่อถามผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย ยังเชื่อว่า แม้ว่าการลงทุนในกองทุน LTF จะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีในปี 2562 เป็นปีสุดท้าย แต่นักลงทุนจะยังคงลงทุนในตลาดทุนต่อไป เพราะผู้ซื้อ LTF จะสนใจลงทุนในตลาดหุ้นอยู่แล้ว ทำให้ประเมินว่า เงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นจะไม่ลดลง

อย่างไรก็ตาม ดร.กิตติพงษ์ คาดว่า หากไม่มีมาตรการอื่นมาทดแทน LTF จะทำให้เงินที่ผู้เสียภาษีจะได้รับคืนจากการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีหายไปอย่างน้อย 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี ตั้งแต่ปี 2564 และทำให้รายได้ของคนกลุ่มนี้ลดลงโดยเฉลี่ย 2.4% ซึ่งทำให้การบริโภคลดลง 4,800 ล้านบาท และกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนในปี 2562 เพียง 0.06% เนื่องจากมีผู้ลงทุนเพียง 2.8 แสนคนเท่านั้น

“แต่คนรายได้สูงอาจจะลดการบริโภคมากกว่ากลุ่มอื่น เพราะจะได้รับผลระทบมากที่สุด โดย Krungthai Macro Research ประเมินว่า การบริโภคของผู้มีรายได้มากกว่า 1.7 แสนบาทต่อเดือนอาจจะลดลงได้ถึง 3 – 3.3% ขณะที่กลุ่มอื่นอาจลดลงประมาณ 1% เท่านั้น” ดร.กิตติพงษ์ กล่าว