KKP แกร่งโกยกำไร 6 พันล. โต 5% ทุนภัทรแรงดีตามคาด

ธนาคารเกียรตินาคินดีขึ้นทุกด้าน ในปี 2561 กำไรมาจากธุรกิจตลาดทุน 1,380 ล้านบาท สินเชื่อโต 18.5% หนุนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 1.1 หมื่นล้านบาทเพิ่ม 6% สินเชื่อด้อยคุณภาพลดลง เฉพาะไตรมาส 4 มีกำไร 1,427 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.4%

ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP)แจ้งว่า ปี 2561 มีกำไรสุทธิ 6,041 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 305 ล้านบาท คิดเป็น 5.3% จากปี 2560 ที่มีกำไรสุทธิ 5,736 ล้านบาท โดยกำไรมาจากธุรกิจตลาดทุน ซึ่งดำเนินงาน โดยบริษัททุนภัทร จำนวน 1,380 ล้านบาท แต่หากพิจารณากำไรเบ็ดเสร็จรวม เท่ากับ 5,123 ล้านบาท ลดลง 16.2 % แบ่งเป็นกำไรเบ็ดเสร็จของธุรกิจตลาดทุนจำนวน 585 ล้านบาท ซึ่งรวมการวัดมูลค่าหลักทรัพย์เผื่อขายจากความผันผวนของตลาดทุนด้วย ทั้งนี้ ธุรกิจตลาดทุนสร้างกำไรสูงอย่างที่นักวิเคราะห์และตลาดคาดการณ์ก่อนหน้านี้

ในปี 2561 สินเชื่อของธนาคารขยายตัว 18.5% สร้างรายได้ดอกเบี้ยจำนวน 16,294 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.8 % มาจากดอกเบี้ยของเงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้น 23.5% รายได้จากเช่าซื้อและสัญญาเช่าการเงินเพิ่มขึ้น 3.1% ส่วนของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินลงทุนในสิทธิเรียกร้องลดลง 39.1%

ส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 11,262 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 633 ล้านบาทหรือ 6% ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยรับของเงินให้สินเชื่อ ลดลงเป็น 7.2% จาก 7.5% ในปี 2560 ประเด็นหลักมาจากสินเชื่อที่ขยายตัวสูงเป็นประเภทที่มีอัตราดอกเบี้ยรับโดยเฉลี่ยน้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยรวม ได้แก่ สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบรรษัท รวมถึงสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยจ่ายอยู่ในระดับคงที่ 2.3% ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 5.0% ลดลงจากระดับ 5.2% ในปี 2560

ทางด้านคุณภาพของสินเชื่อดีขึ้น สินเชื่อด้อยคุณภาพรวมปรับลดลงโดยอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี2561 ลดลงมาอยู่ที่ 4.1% เมื่อเทียบกับ 5% ธุรกิจบริหารหนี้ ธนาคารขายทรัพย์รอการขายได้จำนวน 1,378 ล้านบาท และมีกำไรจากการขายอสังหาริมทรัพย์รอการขาย 703 ล้านบาท ส่วนธุรกิจตลาดเงินทำรายได้จำนวน 301 ล้านบาท

ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ 4,579 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.9% ในส่วนธนาคารมีรายรับจากค่านายหน้าขายประกัน 1,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.4% จากปี 2560 ที่มีจำนวน 957ล้านบาท

ธุรกิจตลาดทุนมีรายได้จากค่าธรรมเนียมธุรกิจการจัดการกองทุน 801 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49.9%จากจำนวน 535 ล้านบาท รายได้จากที่ปรึกษาทางการเงินและรายได้จากการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ จำนวน 560 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากจำนวน 433 ล้านบาท ในปีก่อน และรายได้จากค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์มีจำนวน 1,563 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากจำนวน 1,545 ล้านบาท โดยบล.ภัทร มีส่วนแบ่งการตลาด 4.55% เป็นอันดับที่ 7 ของบริษัทหลักทรัพย์ทั้งหมด 38 แห่ง ลดลง 4.69% ในปี 2560

ทางด้านผลการดำเนินงานในงวดไตรมาส 4/2561 มีกำไรสุทธิไม่รวมส่วนของผู้ถือหุ้นน้อย 1,427 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.4% มาจากกำไรสุทธิของธุรกิจตลาดทุน โดยบริษัททุนภัทร 399 ล้านบาท หากพิจารณากำไรเบ็ดเสร็จจะเท่ากับ 1,033ล้านบาท ลดลง 22.9 % เป็นกำไรเบ็ดเสร็จของธุรกิจตลาดทุนจำนวน 192 ล้านบาท