“ปรับหมอเสริฐ” หุ้น BA-BDMS เดี้ยง เป็นจังหวะซื้อ รพ.กรุงเทพ

ช็อค! กลุ่มนายปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ถูกปรับเฉียด 500 ล้านบาท กรณีปั่นหุ้นการบินกรุงเทพ คาดกระทบหุ้น BDMS และ BA กระเทือนตลาดโดยรวมด้วย โรงพยาบาลใหญ่มีมาร์เก็ตแคป กว่า 3.69 แสนล้านบาท แนะราคาลงแรง เป็นโอกาสซื้อเข้าพอร์ต ธุรกิจโรงพยาบาลยังมีอนาคตอีกไกล บริษัทมีพื้นฐานแข็งแรง แฉเบื้องหลังโยนหุ้นซื้อขายกันภายในกลุ่ม เป้าหมายดันราคา BA ให้พ้นราคาไอพีโอ 25 บาท ส่วน “นฤมล ใจหนักแน่น” เคยถูกปรับมาแล้วเมื่อปี 2553 เป็นเงิน 3.33 แสนบาท กรณีช่วยเหลือและสนับสนุนให้ “ธวัชวงค์ ธะนะสุมิต” กรรมการบริษัทใช้บัญชีในการอินไซด์หุ้น

แหล่งข่าวจากวงการตลาดทุน เปิดเผยว่า กรณีก.ล.ต. ดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับ นายปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ นางสาวปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ และ นางนฤมล ใจหนักแน่น กรณีสร้างราคาหุ้นบริษัท การบินกรุงเทพ (BA) โดยเรียกให้ชำระค่าปรับทางแพ่งรวม เป็นเงิน 499.45 ล้านบาท และสั่งห้ามเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน นอกจากจะส่งผลกระทบต่อราคาหุ้น BA โดยตรงแล้ว ยังจะลามไปถึงบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) อย่างรุนแรงด้วย ในวันที่ตลาดเปิดการซื้อขาย 21 ม.ค. 2562 เนื่องจากนายปราเสริฐ เป็นเจ้าของและดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ มีบทบาทสำคัญต่ออนาคตของ BDMS เหตุการณ์ครั้งนี้จะมีผลทางจิตวิทยาต่อการลงทุนในหุ้นทั้งสองบริษัท อย่างไรก็ตามเชื่อว่า แม้ว่านายปราเสริฐไม่ได้เป็นผู้บริหารใน BDMS และ BA แล้ว แต่การเติบโตทางธุรกิจยังคงเดินต่อไปได้ตามแผนที่วางไว้

“หมอปราเสริฐเป็นคีย์แมน ในการสร้างและพัฒนาโรงพยาบาลกรุงเทพ จนมีชื่อเสียงโด่งดังในต่างประเทศ และมีขนาดใหญ่ติดอันดับในภูมิภาค เมื่อเกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ ย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นและราคาหุ้นได้รับผลกระทบทางจิตวิทยา และเมื่อ BDMS ปรับตัวลงแรง ก็ย่อมส่งผลต่อภาพตลาดโดยรวมด้วย เนื่องจาก BDMS เป็นหุ้นขนาดใหญ่ มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด(มาร์เก็ตแคป)สูงถึง 369,787 ล้านบาท “แหล่งข่าวกล่าว

ส่วนนางนฤมล ใจหนักแน่น มีชื่อติด 1 ใน 3 ในการถูกปรับครั้งนี้ เคยถูกก.ล.ต.ปรับมาแล้วเมื่อปี 2553 เป็นเงิน 333,333.33 บาท กรณีเป็นผู้ช่วยเหลือสนับสนุน ให้นายธวัชวงค์ ธะนะสุมิต กรรมการ บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ ในตอนนั้นใช้ชื่อว่า BGH ใช้บัญชีในการซื้อขายหุ้นระหว่างวันที่ 16 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 7 ธันวาคม 2553 โดยนายธวัชวงค์ในฐานะตัวการใช้ข้อมูลภายในมาซื้อขายหุ้น(อินไซเดอร์) ถูกปรับเป็นเงิน 9,821,867.35 บาท

สำหรับการโยนหุ้นซื้อขายกันเองในกลุ่มเป็นเวลานาน ระหว่างวันที่ 13 พ.ย. 2558 ถึงวันที่ 12 ม.ค. 2559 ส่งผลให้ราคาหุ้น BA ปรับตัวขึ้น และสูงกว่าราคาที่เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับนักลงทุนทั่วไป (IPO) ที่ 25 บาท ขณะที่ราคาหุ้นต่ำกว่าราคาจองมานาน นับตั้งแต่บริษัทเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2557

แหล่งข่าวว่า นักลงทุนควรมองโอกาสครั้งนี้ ในการซื้อหุ้น BDMS เข้าเก็บเหมาะลงทุนระยะยาว เนื่องจากบริษัทมีสินทรัพย์ที่ดี มีการลงทุนในหุ้นโรงพยาบาลหลายแห่งมานาน เมื่อมีความจำเป็น ก็สามารถขายออกมาได้ เหมือนกรณีที่ ตัดสินขายหุ้นของบริษัทโรงพยาบาลรามคำแหง (RAM) ที่ถืออยู่ทั้งหมด 38% ได้เงินมาทั้งสิ้น 12,803 ล้านบาท คาดว่าจะได้กำรประมาณ 5,000 ล้านบาท เข้ามาเสริมในไตรมาส 1/2562 ซึ่งเป็นวัฎจักรธุรกิจของบริษัทที่จะมีกำไรไม่ดีในไตรมาสแรก ซึ่งก็ไม่ใช่ครั้งแรก เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2560 คณะกรรมการบริษัทฯมีมติขายเงินลงทุน ในบริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) จำนวน 25,189,494 หุ้น คิดเป็น 3.45% ให้กับนักลงทุนสถาบัน ในราคาหุ้นละ 179 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 4,508.92 ล้านบาท คงเหลือหุ้นจำนวน 20.50 %

นอกจากนี้ในช่วงที่ราคาหุ้นปรับตัวลงแรงๆ ก็จะมีแรงซื้อของกรรมการเข้าไปรับ อาทิ นางสาว ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ ได้เข้าซื้อหุ้น BDMS อย่างต่อเนื่อง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา วันที่ 18 ม.ค. 2562 ซื้อจำนวน 840,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 23.53 บาท จากวันที่ 14 ม.ค.ซื้อ จำนวน 2.54 ล้านหุ้น ราคา 23.56 บาท และวันที่ 15 ม.ค.ซื้อจำนวน 850,000 หุ้นราคา 23.47 บาท

ก่อนหน้านี้ บริษัท ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ของ BDMS ที่ “AA-” แนวโน้ม “คงที่” สะท้อนความเป็นผู้นำในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทย บริษัทมีเครือข่ายโรงพยาบาลที่กว้างขวางที่สุดซึ่งครอบคลุมโรงพยาบาล 45 แห่งทั่วประเทศที่สามารถให้บริการผู้ป่วยในทั้งสิ้น 5,996 เตียง ณ เดือนมิ.ย. 2561 และบริษัทยังมีบุคลากรทางการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรม โดยมีแพทย์ที่ปฏิบัติงานในเครือโรงพยาบาลกว่า 11,600 คนและมีพยาบาลที่ปฏิบัติงานเต็มเวลาประมาณ 8,000 คน

ในปี 2560 บริษัทมีรายได้จากการให้บริการด้านสุขภาพและการขายรวมเกือบ 72,000 ล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 55% ของรายได้รวมในกลุ่มผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมด บริษัทมีจำนวนเตียงที่ให้บริการผู้ป่วยคิดเป็นสัดส่วน 16% ของจำนวนเตียงในโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมดในประเทศและคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5% ของจำนวนเตียงในโรงพยาบาลทั้งหมดในประเทศไทย

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 มีจำนวนผู้ป่วยนอกรวม 28,574 รายต่อวัน เพิ่มขึ้นจาก 21,960 รายต่อวันในปี 2556 และมีผู้ป่วยในจำนวน 3,998 คนต่อวัน เพิ่มขึ้นจาก 3,054 คนต่อวันในปี 2556 ส่วนคนไข้ต่างชาติ มีจำนวน 4,062 คนต่อวัน จาก 2,926 คนต่อวันในปี 2556 ทั้งนี้คนไข้ต่างชาติคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 14% ของจำนวนคนไข้ทั้งหมด

บริษัทมีตราสัญลักษณ์โรงพยาบาลหลัก ๆ จำนวน 5 ตรา ซึ่งเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในประเทศไทย ได้แก่ โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลบีเอ็นเอช โรงพยาบาลพญาไท และโรงพยาบาลเปาโล ปัจจุบันโรงพยาบาลในเครือข่าย14 แห่งและคลินิกอีก 1 แห่งได้รับการรับรองมาตรฐานจาก Joint Commission International (JCI) และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในกลุ่มคนไข้ต่างชาติ

สำหรับแผนงานในอนาคต บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มโรงพยาบาลในเครือข่ายให้มีถึง 50 แห่งภายในปี 2563 ซึ่งจะทำให้บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการด้านสุขภาพรายสำคัญในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก ที่ผ่านมาบริษัทได้เปิดโรงพยาบาล “ชีวา ทรานสิชั่นนัล แคร์” ในเดือนต.ค. 2561 และกำลังก่อสร้างโรงพยาบาลกรุงเทพเชียงราย เพื่อรองรับผู้ป่วยในจังหวัดเชียงราย พะเยา และน่าน รวมถึงคนไข้ต่างชาติจากประเทศจีนตอนใต้ นอกจากนี้ บริษัทยังกำลังขยายโรงพยาบาลกรุงเทพสำนักงานใหญ่ เพิ่มบริการทางการแพทย์เฉพาะทาง อีกทั้งยังมีโครงการสร้างโรงพยาบาลจอมเทียนในจังหวัดชลบุรีเพื่อรองรับผู้ป่วยในภาคตะวันออก ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของภาครัฐอีกด้วย ทั้งนี้ โรงพยาบาลและโครงการลงทุนใหม่ ๆ เหล่านี้จะเพิ่มจำนวนเตียงผู้ป่วยได้อีกประมาณ 640 เตียงหรือคิดเป็นประมาณ 8% ของจำนวนเตียงที่มีอยู่ในปัจจุบัน

บริษัทได้เปิด BDMS Wellness Clinic ซึ่งเป็นบริการใหม่เมื่อเดือนธ.ค. 2560 โดยคลินิกดังกล่าวเป็นศูนย์สุขภาพครบวงจรที่ให้บริการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและการฟื้นฟูสุขภาพ ปัจจุบันบริษัทเปิดให้บริการแล้ว 4 คลินิก ส่วนที่เหลืออีก 4 คลินิกจะเปิดให้บริการภายในปีนี้ นอกจากนี้ บริษัทยังพัฒนาศูนย์การแพทย์แห่งความเป็นเลิศ ยกระดับโรงพยาบาลชั้นนำ 10 แห่งในเครือเพื่อให้บริการรักษาโรคที่มีความซับซ้อนมากขึ้น

ทริสเรทติ้งคาดว่าระดับหนี้สินของบริษัทจะค่อย ๆ ลดลงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากแผนการขยายเครือข่ายโรงพยาบาลของบริษัทจะเสร็จสิ้นภายในปี 2563 โดยคาดว่าระดับหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้ว จะอยู่ในระดับ 37,000-40,000 ล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วต่อเงินทุนจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 30%-32% ภายในปี 2564 จากระดับ 34.15% ณ เดือนมิ.ย. 2561 ทั้งนี้ การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณารวมไปถึงเงินลงทุนตามแผนและอัตราส่วนเงินปันผลจ่ายที่ระดับไม่น้อยกว่า 50% ของกำไรสุทธิรวมของบริษัทอีกด้วย ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ในระดับประมาณ 2 เท่าภายในปี 2564

อ่านประกอบ

เชือด “หมอเสริฐ & ลูกสาว” ปั่นหุ้น BA ปรับ 500 ล้านบาท