ตลาดบอนด์ปี 61 นิวไฮ อสังหาฯ ไม่น่าห่วง คาดปีนี้เอกชนออกยาว 7.5-8.5 แสนล.

ตลาดตราสารหนี้ไทยสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ ปี 2561 มูลค่าคงค้างทะลุ 13 ล้านล้านบาทครั้งแรก ต่างชาติถือครองเกิน 1 ล้านล้านบาท เอกชนออกหุ้นกู้ระยะยาว เกิน 8 แสนล้านบาทติดต่อกันปีที่ 3 คาดปีนี้ระดม 7.5-8.5 แสนล้านบาท “ธาดา” คาดกนง.ไม่ขยับดอกเบึ้ย หุ้นกู้อสังหาริมทรัพย์ไม่น่าห่วง แม้ธุรกิจชะลอ ปีนี้ครบอายุ 8.5 หมื่นล้านบาท


นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) แถลงว่า ในปี 2561 ตลาดตราสารหนี้ไทยยังคงเติบโตได้ดี มีมูลค่าคงค้างรวมทะลุ 13 ล้านล้านบาทเป็นครั้งแรก เพิ่มขึ้น 11.5% จาก 11.71 ล้านล้านบาทในปีก่อน มาอยู่ที่ 13.06 ล้านล้านบาท แม้มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย 78,834 ล้านบาทต่อวัน ลดลง 13% ก็ตาม โดยนักลงทุนต่างชาติทำสถิติสูงสุดถือครองทะลุ 1 ล้านล้านบาท เอกชนออกหุ้นกู้ระยะยาวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ทะลุ 8 แสนล้านบาทติดต่อกันเป็นปีที่ 3 รวมถึงมีตราสารหนี้ประเภทใหม่ออกมา ธนาคารทหารไทยออกกรีนบอนด์เป็นธนาคารแรกของไทย บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM)ออกกรีนบอนด์ มูลค่า 5,000 ล้านบาทเป็นรายแรกที่ได้รับการรับรองจาก Climate Bonds InitiativeIที่ออกในไทย ส่วนดอกเบี้ยในสหรัฐ และดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ส่งผลให้ต้นทุนของตราสารหนี้เพิ่มขึ้นไม่มากนัก

“ภาคเอกชนมียอดการออกตราสารหนี้ระยะยาวสูงสุดทำลายสถิติที่ 878,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51,151 ล้านบาท หรือ 6.2% จากปีก่อน มาจากกลุ่มภาคธุรกิจจริง(Real sector)เพิ่มขึ้น 18% แต่กลุ่มธนาคารและการเงินลดลง 19% ขณะที่กลุ่มธุรกิจเดียวกันมีการกู้ยืมในรูปของตั๋วสัญญาใช้เงิน (PN)เพิ่มขึ้นกว่า 30% ภาคเอกชนออกตราสารหนี้ระยะสั้น ลดลง 7% โดยภาค Real sector ที่ไม่รวมกลุ่มการเงิน หลังจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปรับปรุงเกณฑ์การออกและเสนอขายตราสารหนี้ไปเมื่อเดือนเม.ย. ส่วนกลุ่มการเงินออกลดลง 49% “นายธาดากล่าว

ส่วนการจับตาการออกหุ้นกู้ของกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในปี 2561 มีมูลค่าหุ้นกู้ระยะยาวคงค้างจำนวนมาก 357,310 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 12% ของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ระยะยาวภาคเอกชน ซึ่งสถาบันหลายแห่งคาดธุรกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากการคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินที่มีการกำหนดเกณฑ์ LTV ใหม่ ซึ่งไม่น่ากังวล แม้มีการออกเพิ่มขึ้น แต่ขนาดไม่ใหญ่ มีสัดส่วนคงที่ 11-12% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เติบโตตามตลาดโดยรวม และมีการต่ออายุหุ้นกู้ต่อเนื่อง ดอกเบี้ยก็เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่จะมีอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงกว่าเดิม ทั้งนี้ มีการออกหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อในระดับที่ลงทุนได้เพิ่มขึ้น ส่วนไม่มีอันดับความน่าเชื่อถือมีผู้ออกลดลง และตราสารหนี้ระยะยาวที่ออกโดยกลุ่มไม่มีเครดิต จะออกในรูปแบบหุ้นกู้มีประกันมากขึ้น

“ในปี 2562 กลุ่มอสังหาริมทรัพย์มีตราสารหนี้ระยะยาวที่ครบกำหนด 85,444 ล้านบาท คิดเป็น 15% ของมูลค่าตราสารหนี้ครบกำหนดรวมในปีนี้ โดย 75% อยู่ในกลุ่มที่มีอันดับความน่าเชื่อถือลงทุนได้ คิดเป็นมูลค่า 63,933 ล้านบาท ส่วนที่ต่ำกว่าลงทุนได้ มูลค่า 11,878 ล้านบาทและไม่มีเรทติ้ง 9,633 ล้านบาท ส่วนปีหน้ามีครบกำหนด 111,587 ล้านบาท ก่อนจะลดลงเหลือ 78,750 ล้านบาท มูลค่า 32,125 ล้านบาทและ 19,878 ล้านบาท ในปี 2564-2566 ตามลำดับ” นายธาดากล่าว

สำหรับนักลงทุนต่างชาติยอดการถือครองสูงเป็นประวัติการณ์ทะลุ 1 ล้านล้านบาท อยู่ที่ 1,002,499 ล้านบาท ก่อนย่อมาอยู่ที่ 985,773 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2561 หรือเท่ากับ 11.8% ของมูลค่าคงค้างรวมพันธบัตรรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) โดยมีการซื้อขายสม่ำเสมอตลอดทั้งปี มียอดซื้อสุทธิ 133,764 ล้านบาท แม้ตลาดจะเผชิญกับแรงกดดันของทิศทางขาขึ้นของดอกเบี้ยสหรัฐตลอดทั้งปี อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุต่ำกว่า 10 ปี เพิ่มขึ้นขึ้น 0.13-0.42% ต่ำกว่าผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐในช่วงอายุเดียวกัน ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของไทย ลดลง 0.03% ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจนถึงรุ่นอายุ 10 ปีของไทยต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค.2561จนถึงปัจจุบัน

“นักลงทุนต่างชาติซื้อตราสารหนี้ไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ อายุ 5-10 ปี ส่งผลให้การถือครองตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปค่อนข้างมาก รวมอายุเฉลี่ย 7.88 ปี เมื่อสิ้นปี 2561 เพิ่มขึ้นจากอายุเฉลี่ย 6.29 ปี ในปีก่อน ”

ส่วนทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2562 นายธาดา คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินหรือกนง.จะไม่ปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น คงอยู่ที่ระดับ 1.75% ต่อปี เนื่องจากประเทศไทยมีการกู้ยืมเงินเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯน้อยมาก ทั้งภาครัฐและเอกชน และมีเงินออมที่มากกว่าเงินลงทุน และอัตราเงินเฟ้อยังคงไม่เห็นการปรับตัวขึ้นมาก หรืออาจจะยังทรงตัวจากปีก่อนที่ 1.03% ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยังไม่เห็นการปรับเพิ่มขึ้น และทำให้อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ไทยค่อนข้างจะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงมากอย่างมีนัยสำคัญ และจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ยังต้องติดตามทิศทางของกระแสเงินทุนที่ไหลเข้าและออกว่าจะเป็นอย่างไร เพราะมีผลกระทบต่อทิศทางของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ไทย

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า ในปี 2562 ประมาณการมูลค่าการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวอยู่ที่ 7.5-8.5 แสนล้านบาท จากระดับ 8.78 แสนล้านบาทในปี2561 แม้ว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะเป็นช่วงขาขึ้น แต่อัตราดอกเบี้ยการออกหุ้นกู้ยังอยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อต่อต้นทุนทางการเงินของธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ หรือเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย

“หุ้นกู้ภาคเอกชนระยะยาวที่จะออกใหม่ ทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมที่ครบกำหนดอายุ มูลค่า 3.8-4.1 แสนล้านบาท คิดเป็นการต่ออายุ ในสัดส่วน 60-70% ของมูลค่าหุ้นกู้ที่ครบกำหนด 5.85 แสนล้านบาท และการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ มูลค่า 4.5 แสนล้านบาท ซึ่งมาจากความต้องการระดมทุนเพิ่มรองรับขยายการลงทุน และบริษัทขนาดใหญ่ระดมทุนเพื่อชำระหนี้ที่กู้มาซื้อกิจการในต่างประเทศ เช่น เครือไทยเบฟเวอเรจ และเครือซีพี เป็นต้น คาดว่าทั้ง 2 กลุ่มยังมีแผนการออกอย่างต่อเนื่อง”นาสาวอริยากล่าว

ทางด้านอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ไทย (บอนด์ยิลด์) ประเภทอายุต่ำกว่า 1 ปี เพิ่มขึ้น โดยอายุ 1 เดือน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.49% ต่อปี จากก่อนหน้าที่ 1.45% ต่อปี อายุ 2 ปีลดลงมาอยู่ที่ 1.78% ต่อปี จากระดับ 1.85% ต่อปี อายุ 5 ปี ลดลงมาอยู่ที่ 2.08% ต่อปี จากก่อนหน้า 2.24% ต่อปี และ อายุ 10 ปี ลดลงมาอยู่ที่ 2.43% ต่อปี จากเดิมที่ 2.57% ต่อปี แนวโน้มในปี 2562

การเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ไทยระยะสั้น หรือตราสารหนี้ไทยที่มีอายุ 2 ปี คาดว่าในปี 62 จะเห็นการเคลื่อนไหวในกรอบแคบใกล้เคียงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนอัตราผลตอบแทน ตราสารหนี้อายุ 10 ปี คาดว่าจะมีความผันผวนสูง และมีโอกาสแกว่งตัวลงในกรอบจำกัด แม้ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น เพราะเศรษฐกิจ มีแนวโน้มชะลอตัวลง อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ไนระดับต่ำ แต่หากมีการกู้เพื่อลงทุนของภาครัฐ อาจจะช่วยหนุนต่ออัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ไทยระยะยาวเพิ่มขึ้นได้ในบางช่วง