SCB นำกลุ่มแบงก์ร่วง โบรกฯ หั่นกำไรปี 62

นักลงทุนขายหุ้น SCB กดราคาร่วงกว่า 2.33% เช้านี้ หลังนักวิเคราะห์พบผู้บริหาร ปรับคำแนะนำลงทุน พร้อมหั่นคาดการณ์กำไรปี 62 ลง ตั้งสำรองหนี้สูง ค่าใช้จ่ายพนักงานตามเกณฑ์เกษียณอายุใหม่

ความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ปรับตัวลดลงต่ำสุดแตะ 125.50 บาท หรือลดลง 3 บาท หรือ -2.33% จากราคาสูงสุดของวันที่ 127 บาทและล่าสุด เวลา 11.35 อยู่ที่ 126.50 บาท ลดลง 2 บาท หรือ -1.56% ด้วยมูลค่าการซื้อขายหนาแน่น 769.68 ล้านบาท

ด้านผู้บริหาร SCB พบนักวิเคราะห์เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2562 โดยบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) แนะนำ “ถือ” ปรับลดราคาพื้นฐานเป็น 138 บาท อิงกับ Gordon growth model ซึ่งเทียบเท่ากับ P/BV ปีนี้ 1.2 เท่า โดยมองปี 2562 เป็นอีกปีที่ท้าทายของ SCB

ผู้บริหาร SCB เปิดเผยเป้าหมายปี 2562 ธนาคารจะเน้นธุรกิจสินเชื่อไม่มีหลักประกัน, บัตรเครดิต และ Small SME รวมถึงการปล่อยสินเชื่อในระบบดิจิตอล และธุรกิจประกัน ทั้งนี้ถ้าสินเชื่อไม่มีหลักประกันเพิ่มมาก ก็ต้องตั้งสำรองฯสูง ผู้บริหารให้ guidance ไว้ที่ 115-135bps สำหรับ NIM คาดว่าจะขยับขึ้นได้เล็กน้อย ค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้ลดลงเป็น 40% กลางๆ (จาก 46.8% ในปี 61) ธนาคารมีลูกค้าดิจิตอล 12 ล้านรายในสิ้นธ.ค.61 (2/3 เป็นลูกค้า Active) มีผู้ใช้ช่องทางแม่มณี 1.3 ล้านราย ทำให้มีช่องทางขยายสินเชื่อผ่านระบบดิจิตอลและ Small SME ได้

“เราได้ปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิปี 62-63 สะท้อนสมมติฐานการตั้งสำรองฯ ที่สูงขึ้นเป็น 130bps (เดิมใช้ 95bps) และปรับอัตราการเติบโตของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยปี 62 เป็น -0.7% (เดิม +0.2%) และปี 63 เป็น +2.6% (เดิม +3.3%) ส่งผลให้กำไรสุทธิปี 62-63 ลดลงปีละ 14%”บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ระบุ

บล.ฟินันเซีย ไซรัส แนะนำ “ถือ”หุ้น SCB เนื่องจากจะบันทึกค่าใช้จ่ายพนักงานตามเกณฑ์เกษียณอายุใหม่ในไตรมาส 1/62 ในเบื้องต้นน่าจะเป็น one-time expense ราว 1,500 ล้านบาท ซึ่งหากรวมในการคาดการณ์กำไรสุทธิไตรมาส 1/62 จะอยู่ที่ราว 1 หมื่นล้านบาท ลดลง -12% Y-Y (ค่าใช้จ่ายเกษียณพนักงานคาดว่า Cost to income ratio จะอยู่ที่ 46%) แต่ +41% Q-Q (ค่าใช้จ่ายสำรองฯลด Y-Y โดยคาดการณ์ credit cost ที่ 1.15% จากไตรมาส 4/61 ที่ 1.67 %) ขณะที่ผลประกอบการปี 62 อาจเห็นแรงกดดันจากค่าใช้จ่ายสำรองฯ และค่าใช้จ่ายการลงทุน IT โดยคงราคาเป้าหมาย 137 บาท คาดการณ์การจ่ายเงินปันผลงวด H2/61 หุ้นละ 4 บาท Yield 3%

ด้านบล.เอเชียเวลท์ มองต่างมุม ปรับคำแนะนำขึ้นเป็น “ซื้อ” จาก “ถือ” ด้วยราคาเป้าหมาย 148 บาท คาด ROE ปี 2562 ของ SCB จะกลับมาเติบโต 11.0% จากปีก่อนที่ 10.8% ซึ่งจะเป็นการปรับตัวขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 ปี ขณะที่ปัจจุบันหุ้น SCB ให้อัตราเงินปันผลตอบแทนค่อนข้างดีที่ 4.3-4.7%

ฝ่ายวิเคราะห์คาดว่า อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้รวม (Cost-to-income ratio) จะพีคไตรมาส 1/62 ขณะที่ SCB มองว่าได้เวลาเริ่มรับรู้รายได้จากการลงทุนในแผน Transformation เน้นสร้างรายได้เพิ่มขึ้นและลดค่าใช้จ่าย โดยการสร้างรายได้จะขับเคลื่อนโดยการให้บริการด้านธุรกรรมธนาคารที่มีประสิทธิภาพขึ้นโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ การขยายสินเชื่อผ่านช่องทางอื่นๆ นอกจากช่องทางดั้งเดิม และการขยายธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง ขณะที่การลดค่าใช้จ่ายจะได้อานิสงส์จากการเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจไปเป็น Digital base มากขึ้น

นอกจากนี้ SCB มุ่งเน้นขยายสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันมากขึ้น และสินเชื่อธุรกิจขนาดเล็กมากขึ้น และลดการขยายสินเชื่อบ้าน ณ สิ้นปี 2561 สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยคิดเป็นต่ำกว่า 5% และ 30%ตามลำดับ เรามีมุมมองเชิงบวกต่อกลยุทธ์ดังกล่าว เนื่องจากจะช่วยเพิ่มอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ในระยะยาว อีกทั้งช่วยเพิ่ม Diversification ให้พอร์ตสินเชื่อโดยการลดการพึ่งพิงสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งมีการคุมเข้มด้านกฎเกณฑ์มากขึ้น ถึงแม้ว่าสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันจะยังต่ำ แต่เรามองว่ากลุ่มดังกล่าวมีโอกาสในการเติบโตอีกมากเนื่องจากไทยยังมีจำนวนประชากรที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการธนาคารพาณิชย์ที่สูง

บล.เอเชียเวลท์ ระบุว่า SCB ตั้งเป้าการเติบโตสินเชื่อปี 2562 ที่ 5-7% หนุนโดยการขยายสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันและธุรกิจขนาดเล็กตามที่กล่าวข้างต้น รวมถึงสินเชื่อบริษัทขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ธนาคารตั้งเป้า NIM ที่ 3.2-3.35% ถึงแม้ว่ากลยุทธ์การขยายสินเชื่อ High-yield จะยังไม่ส่งผลบวกต่อ NIM มากในปีนี้ แต่ NIM มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น

นอกจากนี้ ธนาคารประมาณการ Cost-to-income ratio ยังอยู่ในระดับสูงที่ 40% กลางๆ แต่คาดว่าจะอ่อนตัวลงจากปี 2561 ที่ 46.8% SCB คาดอัตราส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อเฉลี่ย (Credit cost) ที่ 115-135bps ส่วนใหญ่เป็นผลจากการตั้งสำรองทั่วไปที่สูงขึ้นสำหรับสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันตามที่เกณฑ์กำหนด เรายังคงสมมติฐานไว้ตามเดิม ได้แก่ Loan growth ที่ 7% Cost-to-income ratio ที่ 45% Credit cost ที่ 125bps etc. โดยยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2562 ที่ 4.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.2% YoY