ความจริง ความคิด : สรุปมาตรการให้ธนาคารแจ้งข้อมูลเงินฝาก

โดย..สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา ร่างพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่….) พ.ศ….. เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นว่าด้วยการชำระเงินภาษีผ่านทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และการแจ้งรายละเอียดของบุคคล และนิติบุคคล โดยสาระสำคัญ คือ บัญชีของผู้ใช้คนไหน มีความเคลื่อนไหวทั้งรับโอนและฝากเงิน มากกว่า 3,000 ครั้งต่อปี หรือทั้งรับโอนและฝากเงินจำนวน 400 ครั้ง และมียอดรวมมูลค่ากว่า 2 ล้านบาทขึ้นไปต่อปี

หมายความว่าใครก็ตามที่มีธุรกรรมที่มีลักษณะอย่างหนึ่ง อย่างใดในปีที่ล่วงมาดังต่อไปนี้

1. ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้ง หรือ
2. ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดรวมของ ธุรกรรมฝากหรือรับโอนรวมกันตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป

สถาบันการเงินนั้นอย่างเช่น ธนาคาร ฯลฯ จะต้องส่งข้อมูลบัญชีของเราให้กรมสรรพากร เพราะฉะนั้นกฎหมายฉบับนี้แม้ชื่อจะเกี่ยวกับช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่เนื้อหากฎหมายครอบคลุมทุกคน ทุกอาชีพ ไม่ได้เจาะจงเก็บภาษีเฉพาะบุคคลที่ทำธุรกิจออนไลน์เท่านั้น

เป้าหมายเพื่อการจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยจากสถิติผู้ใช้แรงงาน ที่มีอายุ 30 – 39 ปี จำนวน 10.7 ล้านคน มีเงินเดือนประจำราว 8.2 ล้านคน ยื่นภาษีเพียง 5.2 แสนราวเท่านั้น และบุคคลที่ทำอาชีพอิสระ ไม่มีระบบเงินเดือนที่ชัดเจนจำนวน 2.5 ล้านคน ยื่นเสียภาษีเพียง 3.1 แสนคน และจำนวนนิติบุคคลที่ต้องเสียภาษี มีจำนวน 6.4 แสนราย แต่ยื่นเสียภาษีจริงมี 4.2 แสนราย จากตัวเลขจะเห็นได้ว่ามีบุคคลจำนวนมาก ไม่ยื่นเสียภาษีทางกฎหมาย ซึ่งการร่างเพิ่มเติมประมวลกฎหมายดังกล่าว จะสามารถเข้าถึงกลุ่มบุคคลที่หลีกเลี่ยงภาษีได้ง่ายขึ้น เพื่อเอาผิดทางกฎหมาย

ทีนี้หลายคนโดยเฉพาะผู้ฝากเงินก็สงสัยในหลายๆ ข้อเกี่ยวกับกฎหมายนี้ เรามาคุยกันถึงข้อมูลล่าสุดที่มีนะ

เริ่มใช้เมื่อไหร่ คาดว่าเริ่มบังคับใช้ปี 2563 แปลว่าข้อมูลที่สถาบันการเงินส่งให้กรมสรรพากรปีแรก น่าจะเป็นข้อมูลปี 2563 และจะมีผลให้สถาบันการเงินต้องยื่นข้อมูลในแบบเสียภาษีในปี 2564

กรมสรรพากรต้องการข้อมูลเพื่อตรวจสอบเรียกเก็บภาษี? ข้อนี้สรรพากรชี้แจงมาครับว่าไม่ได้เอาไปตรวจสอบเรียกเก็บภาษี สรรพากรต้องการข้อมูลเพื่อไปทำการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้เสียภาษี กลุ่มผู้เสียภาษี เพื่อทำแผนปรับปรุงประสิทธิภาพจัดเก็บต่อไป

ใครเป็นคนส่งข้อมูลให้สรรพากร กฎหมายฉบับนี้ครอบคลุมสถาบันการเงินรวมถึง ผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank)(หมายถึง ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ส่วนใหญ่เป็นบริษัทจำกัดที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ ทั้งนี้ Non-bank ที่ ธปท. กำกับดูแล อย่างเช่น ผู้ให้บริการบัตรเครดิต, ผู้ให้บริการสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพสำหรับบุคคลรายย่อย (นาโนไฟแนนซ์), ฯลฯ

ข้อมูลที่ส่งให้สรรพากร มีแค่ ชื่อ-นามสกุล จำนวนครั้ง วงเงินฝากและรับโอน ข้อมูลเหล่านี้จะอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของสรรพากร ไม่มีใครสามารถเข้าไปดูได้

การนับข้อมูลนับเฉพาะรายการข้อมูลจะนับเฉพาะข้อมูลเงินไหลเข้าบัญชีเงินฝากเท่านั้น คือ ข้อมูลเงินรับโอนและข้อมูลการฝากเงิน ข้อมูลเงินไหลออกจากบัญชีเงินฝาก อย่างเช่น ข้อมูลการโอนเงิน หรือ การถอนเงิน ฯลฯ ธนาคารไม่ต้องส่งให้กรมสรรพากร

การส่งข้อมูลจะยึดเลขบัตรประชาชนหรือเลขบัญชีเงินฝาก การส่งข้อมูลของบุคคลหนึ่งต่อหนึ่งธนาคารจะใช้หลักเดียวกับการคุ้มครองเงินฝาก คือ ยึดเลขบัตรประชาชนเป็นหลัก ไม่สนใจว่าจะเปิดบัญชีเงินฝากกี่ประเภท กี่บัญชี นับข้อมูลทุกบัญชีรวมกัน

หากผู้ฝากเงินมีบัญชีเงินฝากหลายธนาคาร บัญชีของธนาคารที่เข้าเกณฑ์ที่สรรพากรกำหนดเท่านั้นถึงจะส่งข้อมูลให้สรรพากร บัญชีผู้ฝากในธนาคารไหนที่ไม่เข้าเกณฑ์ ธนาคารนั้นก็ไม่ต้องส่งข้อมูล เหมือนการคุ้มครองเงินฝากอีก คือ คุ้มครอง 1 ล้านบาทแต่ละธนาคารไม่ใช่ทุกธนาคารรวมกัน ดังนั้น กรณีคุ้มครองเงินฝาก เราใช้วิธีกระจายบัญชีเงินฝากเพื่อให้ได้คุ้มครองเยอะๆ กรณีแจ้งข้อมูล ก็ใช้วิธีกระจายบัญชีเงินฝากไปหลายๆธนาคารก็ได้เช่นกัน ถ้าไม่อยากให้ธนาคารส่งข้อมูลเราให้สรรพากร

ส่วนบัญชีร่วม (ชื่อเจ้าของบัญชี 2 คนขึ้นไป) สรรพากรยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ครับ