กสิกรคาดกำไรพลังงาน-ปิโตรฯ ร่วง 15% 5 นักวิเคราะห์หั่นเป้า PTTEP ปีนี้

บล.กสิกรไทยวิเคราะห์กลุ่มพลังงาน-ปิโตรเคมี คาดปีนี้มีกำไรสุทธิรวม 1.57 แสนล้านบาท หายไป 31,000 ล้านบาท จาก 3 ปัจจัย ราคาน้ำมันลงต่อ ค่าการกลั่นลด หลายบริษัทปิดซ่อมใหญ่ โดยเฉพาะ PTTEP-PTTGC กำไรทรุด 20-25% ยก BANPU เด่นสุด ส่วนไฟฟ้าให้ BGRIM-RATCH-EGCO ปตท.สผ.เปิดผลงานไตรมาส 4 ต่ำกว่าคาด 5 นักวิเคราะห์ปรับลดเป้า ทิสโก้ตัดกำไรปีนี้-ปีหน้าลง 1-5% เอเชียเวลท์ ให้ราคาแค่ 139 บาทจากเดิม 143 บาท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ลดพรวดเดียว 10 บาทเหลือ 150 บาท

นายจักรพงศ์ เชวงศรี ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า ฝ่ายวิจัย คาดว่า ในปี 2562 กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีจะมีกำไรสุทธิรวม 1.57 แสนล้านบาท เทียบกับปีก่อนคาดว่าจะทำได้จำนวน 1.88 แสนล้านบาท ลดลงจำนวน 31,000 ล้านบาทหรือประมาณ 15% ซึ่งจะมีผลกระทบต่อกำไรของตลาด 5%

ปัจจัยหลักที่ทำให้กำไรของกลุ่มนี้ลดลง มาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง คาดราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 57 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากระดับ 68 เหรียญสหรัฐในปีก่อน ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ลดลงจาก 71 เหรียญสหรัฐมาอยู่ที่ 60 เหรียญสหรัฐในปีนี้ นอกจากนี้ค่าการกลั่นในตลาดสิงคโปร์ ก็ลดลงคาดว่าจะอยู่ที่ 5.60 เหรียญสหรัฐ จากปีก่อนอยู่ที่ 6 เหรียญสหรัฐ

ประเด็นสำคัญในปีนี้ มีบริษัทหลายแห่งมีการหยุดโรงงานซ่อมบำรุงใหญ่ เช่น บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือปตท.สผ. (PTTEP) ในไตรมาส 1 หยุดซ่อมโรงงานแหล่งบงกช นาน 45 วัน แหล่งซองกา 1 สัปดาห์ และไตรมาส 3 หยุดที่แหล่งบงกชและอาทิตย์ ส่วนบริษัทไทยออยล์ (TOP) หยุดซ่อม 30-40 วัน บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) หยุดซ่อมในไตรมาส 4 และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) หยุด 52 วัน เป็นปัจจัยสำคัญทำให้กำไรลดลง

“ฝ่ายวิจัยได้ปรับลดน้ำหนักหุ้น PTTEP และ PTTGC ตามราคาน้ำมัน คาดว่ากำไรทั้งสองบริษัท จะลดลง 20-25% จากปีก่อน”

สำหรับหุ้นที่น่าสนใจ คือ บริษัทบ้านปู (BANPU) เพราะ มูลค่าหุ้นถูก เมื่อพิจารณาจาก พี/อี และ พี/บีวี ให้ราคาเป้าหมาย 18.50 บาท เพราะจีนยังมีความต้องการซื้อถ่านหินเพิ่มขึ้น แต่จะลดลงในปีหน้า

ส่วนแผน PDP ฉบับใหม่ ในส่วน IPP ที่ต้องการกำลังการผลิตไฟฟ้ามากกว่าแผนฉบับเดิม มีหุ้นที่ได้รับประโยชน์ 2 บริษัท คือ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ขณะนี้มีโรงไฟฟ้า 2 โรง ขนาดกำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์เท่ากัน ในปีนี้จะหมดอายุลง 1 โรง คาดว่ารัฐใช้เวลาในการเจรจา เพราะการสร้างก่อสร้างใหม่ไม่ทัน เเนื่องจากต้องใช้เวลาก่อสร้างถึง 3 ปี ส่วนโรงไฟฟ้าแห่งที่สอง จะหมด ในปี 2566 ก็มีโอกาสในการเจรจาหรือเปิดประมูลได้ บริษัท ผลิตไฟฟ้า (EGCO) ภาครัฐมีนโยบายสร้างโรงไฟฟ้า ที่ภาคใต้ จังหวัดกระบี่และอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา บริษัท มีพื้นที่ภาคใต้ มีความได้เปรียบ

นอกจากนี้ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ได้รับผลดีจากการต่ออายุโรงไฟฟ้า SPP รวมถึงต้นทุนพลังงานลดลง และมีลูกค้า 1 ใน 3 เป็นโรงงานอุตสาหกรรม น่าจะปรับเพิ่มราคาขายเฉลี่ยขึ้นตามการปรับขึ้นค่า Ft ของกกพ.

ขณะเดียวกัน บริษัทได้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้น SCC ,IRPC และ SPRC ที่เป็นโรงไฟฟ้าสมัยใหม่

ทางด้านผลการดำเนินงานของกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี นายจักรพงศ์ กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยคาดว่าทั้งกลุ่มจะขาดทุนจากสต็อกรวม 1.75 หมื่นล้านบาท

สำหรับบริษัท ปตท. สผ.เปิดเผยกำไรงวดไตรมาส 4/2561 ออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ ส่งผลให้นักวิเคราะห์มีการทบทวนประมาณการในปี 2562-2563 โดยมีอย่างน้อย 5 รายที่มีการปรับลดลง จากจำนวนที่ออกบทวิเคราะห์จำนวน 11 ราย เช่น บล.ทิสโก้ ปรับลดเป้ากำไรปี 2562-2563 ลง 1-5% และแนะนำการลงทุนหุ้นเพียง”ถือ”ให้ราคาเหมาะสม 124 บาท บล.หยวนต้า(ประเทศไทย) แนะซื้อเก็งกำไรให้ราคา 138 บาทหลังจากลดเป้าหมายราคาหุ้นและกำไรปกติปีนี้ลง 11% เป็น 4.2 หมื่นล้านบาท