ความจริง ความคิด : พอร์ตแดงควรปรับพอร์ตอย่างไรดี

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์ ,CFP

แม้ว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET Index) สิ้น ม.ค.62 ปิดที่ 1,641.73 จุด เพิ่มขึ้น 5.0% จากสิ้นปี 2561 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหลักทรัพย์อื่นในเอเชีย แถมมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมของ SET และ mai ในเดือนมกราคม 2562 อยู่ที่ 48,582 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.5% จากเดือนก่อน โดยผู้ลงทุนสถาบันในประเทศ และผู้ลงทุนต่างประเทศ มีสถานะซื้อสุทธิก็ตาม

แต่ก็ใช่ว่าตลาดหุ้นไทยจะสดใสเสียทีเดียว ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายใน เรื่องการเลือกตั้ง (ไม่รู้จะมีเซอร์ไพรซ์อะไรอีก) หรือปัจจัยภายนอก เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน, Brexit, การเมืองและงบประมาณของสหรัฐ, ภาวะเศรษฐกิจโลก ฯลฯ

ปัจจัยเหล่านี้นอกจากทำให้เราต้องระมัดระวังในการลงทุนแล้ว ยังทำให้หลายคนกังวลกันมากอีกว่าพอร์ตที่เป็นสีแดงอยู่ตอนนี้ แม้จะมีบางตัวสีเขียวมาบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็ยังแดง จะรีบขายล็อคกำไรสำหรับตัวสีเขียวดี หรือถือต่อ และตัวที่ขาดทุนอยู่ล่ะ ขายขาดทุน (Cut loss) เลยดีป่าว หรือ ไม่ขายไม่ขาดทุนดี

เรื่องนี้จากประสบการณ์ที่พบมาก คือ การปรับพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ปัจจุบันเป็น Employee choices คือสมาชิกกองทุนเลือกพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของตนเองได้กันหมดแล้ว หลายคนเริ่ม Employee choices ด้วยการเลือกลงทุนในหุ้นเยอะๆ เพราะเชื่อพวกผู้จัดการกองทุนว่า ถ้าเป็นการลงทุนระยะยาวแล้วการลงทุนในหุ้นเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเพราะผลตอบแทนเฉลี่ยดี ชนะเงินเฟ้อได้ แต่เมื่อเจอปีที่หุ้นตก ก็ชักไม่แน่ใจ ไม่เชื่อที่ผู้จัดการกองทุนแนะนำ พากันย้ายเงินลงทุนจากหุ้นมาเป็นตราสารหนี้หรือพวกตลาดเงิน ยอมขาดทุน เพราะคิดว่าดีกว่าขาดทุนเพิ่ม แถมบางที่ยังเปลี่ยนผู้จัดการกองทุนเสียอีก

แต่ปรากฏว่า ปีถัดมา ตลาดหุ้นดันกลับเป็นบวกเสียอีก (ตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้งเป็นต้นมา ตลาดหุ้นไทยไม่เคยติดลบติดต่อกันเกิน 1 ปี) ก็เลยเป็นขาดทุน 2 เด้งไปเลย คือ ขาดทุนจากการลงทุนในหุ้นในปีแรก และขาดทุนกำไรจากการไม่ลงทุนในหุ้นในปีที่สอง แล้วอย่างนี้จะให้ทำอย่างไรดี เพราะไม่มีใครรู้นี่ว่าหุ้นจะขึ้นหรือจะลง

ถ้าอยากรู้ว่าวิธีไหนคือวิธีที่ถูกต้อง ก็คงต้องศึกษาจากกูรูที่ผ่านวิกฤติการเงินการลงทุนมาก่อนและยังสามารถประสบความสำเร็จได้ ดีกว่าไปเชื่อพวกเซียนที่ยังไม่เคยผ่านวิกฤติ เพราะยังไม่ผ่านการพิสูจน์ว่าเป็นทองแท้ป่าว กูรูที่ผ่านวิกฤตมามากมายและยังประสบความสำเร็จ ผมเชื่อว่า Warrant Buffette ก็เป็นหนึ่งในนั้น และก็เชื่อว่า Warren Buffette ก็เคยพอร์ตแดงเหมือนเรา แต่ไม่ทราบรายละเอียด

จนได้อ่านพบบทความ “Buffett’s Alpha : เผยความลับในการเอาชนะตลาดหุ้นของ วอร์เรน บัฟเฟตต์” จากเว็บ http://mangmaoclub.com/buffetts-alpha-summary/ ถึงได้รู้ว่า Warren Buffette เคยแพ้ตลาดเช่นกัน โดยมีส่วนต่างที่กว้างถึงกว่า 76% เมื่อหุ้นของเขาให้ผลตอบแทนติดลบราว 44% ในขณะที่ตลาดหุ้นวิ่งขึ้นไปกว่า 32% ในช่วงปี ค.ศ. 1998-2000 (อาการหนักกว่าเราอีก ของเราตกเพราะตกตามตลาด)

ดังนั้นเราจึงไม่ใช่คนเดียวที่เคยแพ้ตลาดในระยะสั้นๆอย่างแน่นอน และนี่ก็เป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าการยึดมั่นในกลยุทธ์การลงทุนที่ถูกต้องอย่างยาวนานมากที่สุดคือหนทางแห่งชัยชนะ แล้วอะไรคือกลยุทธ์การลงทุนที่ถูกต้องของ Warren Buffette

Buffett’s Alpha บทพิสูจน์กลยุทธ์การลงทุนของบัฟเฟตต์ พบว่า ความปลอดภัย, ราคาที่ถูก และกิจการที่ดี คือตัวแปรหลักที่เป็นตัวขับเคลื่อนผลตอบแทนของ วอร์เรน บัฟเฟตต์

• Safe : ความปลอดภัย หรือความผันผวนของหุ้นที่ต่ำกว่าตลาด โดยพวกเขาได้พบว่า บัฟเฟตต์ มักเลือกซื้อหุ้นที่มีความผันผวนที่ต่ำกว่าตลาดอยู่เสมอ (เช่น Low Volatility or Low Beta)

• Cheap : ราคาที่ถูก หรือ ส่วนต่างของราคากับมูลค่าของหุ้นในขณะนั้น โดยพวกเขาได้พบว่า มักเลือกซื้อหุ้นในราคาที่ถูกกว่ามูลค่าอยู่เสมอ (เช่น Low Value or Low Price-to-Book Ratio)

• Quality : กิจการที่ดี หรือ ความสม่ำเสมอของผลกำไร อัตราการเติบโต และอัตราการจ่ายเงินปันผลที่สูง (Payout Ratio) โดยพวกเขาได้พบว่า บัฟเฟตต์ มักเลือกซื้อหุ้นที่มีคุณภาพของกิจการที่ดีอยู่เสมอ

นอกจากนี้แล้วสิ่งที่น่าสนใจก็คืองานวิจัยพบว่า บัฟเฟตต์ นั้นซื้อหุ้นโดยไม่สนใจแนวโน้มของตลาดเลยจริงๆ และนั่นหมายความว่า ไม่ว่าหุ้นจะลงหรือแม้แต่กำลังวิ่งขึ้นไปมากสักเท่าไหร่ เขาก็ไม่สนใจหากว่าเขาคิดว่าราคาของมันยังต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนรายย่อยหลายๆคนอาจไม่สามารถทำอย่าง บัฟเฟตต์ ได้เลย เนื่องการกระทำเช่นนี้ได้นั้นมักจะขัดกับความรู้สึกจนเกินไปนั่นเอง หากใครสนใจอ่านบทความเต็มไปอ่านต่อได้ตาม link ที่ให้ครับ