สัมภาษณ์พิเศษ : ‘รพี สุจริตกุล’ เปิดกลยุทธ์การลงทุน เกษียณอย่างมีความสุข

HoonSmart.com >> “รพี สุจริตกุล” เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คนที่ 6 แต่เป็นเลขาธิการก.ล.ต. คนแรกที่จะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ต่อ ป.ป.ช. หลังจากพ้นจากตำแหน่ง ตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาตรา 102 พ.ศ.2561

และเมื่อพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการก.ล.ต.ยังถูกห้ามไปทำงานในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนอีก 2 ปี ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.)

รพี สุจริตกุล

ปัจจุบัน “รพี”อายุยังไม่ถึง 60 ปี และจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 30 เม.ย. 2562 จะอยู่อย่างไรต่อไป หากไม่สามารถทำงานในแวดวงตลาดทุนที่คลุกคลีมาเกือบตลอดชีวิต แต่ไม่ต้องเป็นห่วง …

เพราะท่านเลขาธิการคนนี้ มีการวางแผนการลงทุนเป็นอย่างดี ตั้งแต่อายุยังน้อย ภายใต้หลักการลงทุนสม่ำเสมอและกระจายความเสี่ยงผ่านมืออาชีพ ทำให้มีอิสรภาพทางการเงินมานานหลายสิบปี

“รพี”เล่าให้ฟังว่า ตอนเปิดบัญชีทรัพย์สิน คงจะเห็นข้อมูลว่าทรัพย์สินที่ผมได้มาทั้งหมด เกิดจากการลงทุน ตั้งแต่“วันแรกของการทำงาน”เงินที่หามาได้ หักเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเต็มแม็ก(สูงสุด) และหักเงินเดือนอีก 20% ลงทุนในกองทุนทุกเดือน

ตั้งแต่ทำงาน ไม่ได้ใช้เงินมรดกซักบาท และมรดกส่วนใหญ่เป็นพวกที่ดิน

“โชคดี ผมเข้าลงทุนในจังหวะที่ดี ดัชนีหุ้นลงมาเหลือ 300 จุด ตอนนั้นปี 2535 เพิ่งเข้าทำงานที่ก.ล.ต.ซักพักหนึ่ง มีเงิน 2-3 ล้านบาท เอาเงินที่มีอยู่ทั้งหมด ไปซื้อกองทุนหุ้น พอหุ้นขึ้นมา 1,000 จุด ผมก็ขาย ได้เงินมาประมาณ 10 ล้านบาท ถึงกล้าตัดสินใจลาออกจาก ก.ล.ต. ครั้งแรกได้ เพราะหากยังไม่มีงานทำ ก็ยังมีเงินก้อนนี้อยู่ เมื่อออกมาทำบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย ก็ตัดเงินเดือน 20% ซื้อกองทุนทุกเดือน พอกลับมาก.ล.ต.ยังคงตัดเงินเดือนลงทุนในกองทุนทุกเดือนต่อไป แม้ว่าเกษียณแล้วก็จะลงทุนต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่าการลงทุนในหุ้นระยะยาวจะให้ผลตอบแทนที่ดี แต่ผมลงทุนแบบกระจาย ช่วงแรก ซื้อกองทุนหุ้น ตอนหลังซื้อกองทุนตราสารหนี้ ส่วนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลงทุนในกองทุนหุ้นมากหน่อย” รพี กล่าว

ทำไมถึงไม่ลงทุนเอง?

รพี กล่าวว่า นักลงทุนรายบุคคล ไม่มีความสามารถเท่ากับนักลงทุนสถาบันหรอก ไม่มีทางที่จะเลือกหุ้นหรือวิเคราะห์ได้ลึกขนาดนั้น ขอยกตัวอย่างเช่น การวิเคราะห์หุ้นแบงก์ ซึ่งเชื่อว่าวิเคราะห์ง่ายที่สุดแล้ว เราจะรู้ไหมว่าสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล กระจุกอยู่ในสินเชื่ออะไรบ้าง สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ หรือลูกค้ารายใหญ่ และรายได้มาจากตรงไหนบ้าง หรือเรื่องกลยุทธ์ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) จะปิด 400 สาขา กับธนาคารกรุงเทพ (BBL) จะเปิดสาขาไปเรื่อยๆ คนไหนถูก เราไม่มีทางรู้หรือวิเคราะห์ได้เลย

ผู้จัดการกองทุนที่ดูเฉพาะธุรกิจ มีการวิเคราะห์ข้อมูลลึกมากและมีการไปคุยกับคุณชาติศิริ โสภณพนิช (BBL) คุณอาทิตย์ นันทวิทยา (SCB) นักวิเคราะห์มีกระบวนการดูหุ้นแบงก์ทั่วโลก ว่า ธนาคารไปทิศทางไหน แค่หุ้นพื้นฐาน เรากับนักลงทุนสถาบันยังเป็นคนละโลกเลย

ผมไม่ลงทุนเอง เพราะไม่มีความรู้พอที่จะวิเคราะห์ เวลาเห็นผู้จัดการกองทุน ตั้งคำถาม ลึกมาก ถามว่าตั้งสมมุติฐานมาจากไหน ทำไมถึงให้น้ำหนักเท่านั้น ผู้จัดการกองทุน นักวิเคราะห์บางคนไม่เคยดูหุ้นตัวอื่นเลย ทำให้มีความรู้มาก”

ส่วนที่มีการใช้ AI มาช่วยในการวิเคราะห์หรือช่วยในการตัดสินใจการลงทุน รพี กล่าวว่า ยังไม่มีการพิสูจน์ว่า AI ทำได้ดีขนาดไหน เพราะ AI ดูข้อมูลในอดีต ดังนั้นการวิเคราะห์ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ดึงมา เชื่อว่าหลายปัจจัยในอดีตไม่ได้บ่งชี้เรื่องอนาคตทั้งหมด ไม่เหมือนคน นักวิเคราะห์ คาดการณ์เรื่องในอนาคตได้ การใช้ AI เหมือนขับรถไปข้างหน้า แต่มองกระจกหลัง

รพี กล่าวทิ้งท้ายว่า การลงทุนต้องทำสม่ำเสมอ ต้องกระจายความเสี่ยง ทุกคนรู้ว่าฝากแบงก์ไม่พอกิน แต่ก็ไม่แน่ใจว่าการลงทุนในหุ้นจะชนะไปเรื่อยๆ ชีวิตนี้ไม่มีอะไรที่ปลอดภัยทุกอย่าง ต้องเก็บให้พอ ต้องลงทุนยาวจริงๆ ถ้าได้ผลตอบแทนปีละ 8-9% ก็ดี

กลยุทธ์การลงทุนแบบนี้ สามารถนำไปใช้ได้จริง เพื่อให้คนไทยทุกคนมีความอยู่ดีมีสุขทางการเงินในระยะยาว