RATCH ทุ่มลงทุนปีนี้ 2 หมื่นล้าน รักษาแชมป์ตั้งเป้า 10,000 MW ปี 2566

HoonSmart.com >> “ราชบุรีโฮลดิ้ง” ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตปีนี้ 1,320 MW คาด COD เพิ่ม 179.73 MW ขยายโครงการใหม่ ซื้อกิจการในต่างประเทศ กำลังเจรจา 1-2 ดีล ขนาด200-300 MW ตั้งเป้าซื้อปีละ 300-400 MW ส่วนแผนระยะยาว 2562-2564 จะมี COD จำนวน 775.87 MW

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) เปิดเผยว่า ในปี 2562 บริษัทเตรียมเงินลงทุน 2 หมื่นล้านบาทในการเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 8,960 เมกะวัตต์ (MW) เทียบเท่า เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) 179.73 MW จากปี 2561 มีกำลังผลิตอยู่ที่ 7,639.12 MW และ COD แล้ว 6,863.25 MW นอกจากนี้บริษัทวางเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตในปี 2566 ที่ 10,000 MW เทียบเท่า ในระหว่างปี 2562-2564 จะมี COD จำนวน 775.87 MW โดยเป็นการลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 40% เป็น 50% เพราะในประเทศมีการเปิดโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่น้อยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่สัดส่วนการลงทุนในพลังงานทดแทนอยู่ที่ 20% เท่าเดิม

“หากบริษัทมีกำลังการผลิต 10,000 MW ตามแผนจะทำให้กำไรและรายได้เติบโตขึ้น และยังครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับหนึ่งจากขณะนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2566 แต่จะตกลงมาเป็นอันดับสอง ในปี 2567 เพราะบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) จะมีกำลังการผลิตมากกว่า 10,000 MW” นายกิจจา กล่าว

กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า ในปีนี้ COD จำนวน 179.73 MW มาจาก 3 โครงการ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์คอลลินส์วิลล์ ขนาด 42.5 MW บริษัทถือหุ้น 100% โรงไฟฟ้าเบิกไพรโคเจนเนอเรชั่น มีสัดส่วนกำลังการผลิต 34.73 MW ถือหุ้น 35% และโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียนเซน้ำน้อย สัดส่วนกำลังผลิต 102.5 MW ถือหุ้น 25% ส่วนกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจำนวน 1,320.88 MW มาจากการเข้าประมูลโรงไฟฟ้า IPP ซึ่งโรงไฟฟ้าของบริษัท ขนาด 700 MW หมดอายุสัมปทานในปี 2563 บริษัทมีความพร้อมทั้งในด้านพื้นที่ ระบบขนส่งแก๊สเข้าโรงไฟฟ้า ถือเป็นข้อได้เปรียบคู่แข่ง นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะออกไปซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานลม พลังงานน้ำและแสงอาทิตย์ในต่างประเทศ ขณะนี้มีการเจรจาอยู่ 1-2 ดีล รวม 200-300 MW เป็นโรงพลังงานฟอสซิล และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ซึ่งอยู่ในอาเซียน คาดว่าจะได้ข้อสรุปปลายไตรมาสแรก หรือต้นไตรมาสสอง ขณะเดียวกันบริษัทตั้งเป้าจะซื้อโรงไฟฟ้าในต่างประเทศปีละ 300-400 MW

สำหรับเงินลงทุนในปีนี้ 2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 6 พันล้านบาทลงทุนในโครงการเดิม ประกอบด้วยโครงการเซเปียนเซน้ำน้อย โครงการนิวเคลียร์ฟังเซงกังในจีน และการลงทุนโครงการน้ำประปาแสนดินในลาว ส่วนเงินลงทุนอีก 1.4 หมื่นล้านบาท เป็นโครงการใหม่ๆที่เข้าประมูลในประเทศ ตามแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้าฉบับใหม่ และการซื้อกิจการในต่างประเทศ แหล่งเงินทุนมาจากผลดำเนินงาน บริษัทมีกรแสเงินสดราว 9 พันล้านบาท มีแผนกู้เงินอีกประมาณ 3-5 พันล้านบาท และอาจจะมีการออกหุ้นกู้ ซึ่งได้มีการขอมติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นราว 1.5 หมื่นล้านบาท

นายกิจจา กล่าวว่า กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ สนใจจะเข้าร่วมประมูลโครงการพัฒนาสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งจะต้องมีการหาพันธมิตรที่มีความชำนาญด้านธุรกิจการบินเข้ามาร่วมในกลุ่ม นอกจากนี้ยังสนใจจะเข้าประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันตก รวมถึงสายสีเทา ขณะนี้อยู่ระหว่างรอประกาศทีโออาร์ ที่ผ่านมากลุ่มบีเอสอาร์ได้รถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสีชมพูแล้ว