PTTEP ปั้นกำไรเพิ่ม หาพันธมิตรลงขันเอราวัณ-บงกช

HoonSmart.com>> ปตท.สผ.คาดกำไรจะไม่ลดลง หลังทุ่มงบกว่า 1 ล้านล้านบาท ลงทุนแหล่งเอราวัณ-บงกช ในช่วง 10 ปี เล็งดึงพันธมิตรเพิ่ม ส่วนโครงการโมซัมบิก จะใช้เงินลงทุน 800 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 4 ปี

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมหรือปตท.สผ.(PTTEP) เปิดเผยว่า กำไรของบริษัทจะไม่ลดลง หลังจากเข้าไปบริหารแหล่งเอราวัณ และบงกช โดยวางแผนจะใช้เงินในการบริหารทั้งสองแหล่ง 1 ล้านล้านบาท ช่วงเวลา 10 ปีตั้งแต่ปี 2566 แบ่งเป็น แหล่งเอราวัณ 6-7 แสนล้านบาท และแหล่งบงกช 3-4 แสนล้านบาท มาจากเงินทุนของบริษัทที่มีประมาณ 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงเงินจากการดำเนินการของทั้ง 2 แหล่ง

“แม้บริษัทจะเสนอราคาในระดับ 116 บาทต่อล้านบีทียู บริษัทได้มีการศึกษาและพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว เกิดผลดีต่อคนไทย ผู้ถือหุ้นก็ไม่ได้รับผลกระทบ และการบริหาร 2 แหล่งจะช่วยจัดการต้นทุนได้ไม่ต่ำกว่า 20-25% “นายพงศธร กล่าว

อย่างไรก็ตาม บริษัทอาจจะมีการปรับแผนการใช้เงิน 5 ปีที่เคยกำหนดไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งต้องรอเสนอแผนการบริหารงานต่อภาครัฐก่อน

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTEP กล่าวว่า สนใจที่จะหาพันธมิตรเข้ามาร่วมถือหุ้นและบริหารในแหล่งเอราวัณ และบงกชเพิ่ม เพื่อสร้างความสมดุล และเป็นการเสริมศักยภาพ แต่การที่ดึงพันธมิตรจะเกิดขึ้น ประมาณปี 2566 หรือ 2567 ส่วนจะดึงเชฟรอนหรือไม่ยังระบุไม่ได้ เพราะยังมีเวลาพิจารณาอีกนาน และจะต้องเสนอให้แก่บอร์ดตัดสินก่อน

“ตามความเห็นส่วนตัวของผม คิดว่าแต่ละแหล่ง น่าจะมีสัก 3 รายน่าจะดี จะได้มีความสมดุล สามารถนำประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนกันได้”นายพงศธร กล่าว

ปัจจุบันนี้แหล่งเอราวัณ PTTEP ร่วมกับบริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม โดย PTTEP ถือหุ้น 60% และ เอ็มพี จี2 ถือหุ้น 40% ส่วนแหล่งบงกช PTTEP ไม่ได้ร่วมกับใคร ถือหุ้น 100%

ส่วนกรณีที่ภาครัฐมีแผนจะเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมอ่าวไทยรอบใหม่ ปตท.สผ.สนใจจะเข้าร่วมประมูล ซึ่งจะร่วมกับพันธมิตรเหมือนช่วงที่ผ่านมา ปัจจุบัน บริษัทมีแหล่งปิโตรเลียมสำรองเป็นเวลา 7 ปี ซึ่งยังไม่นับแหล่งเอราวัณ และบงกช ที่ยังไม่ได้เข้าไปบริหาร

สำหรับโครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟเซอร์ แอเรีย วัน เฟสแรก จะใช้เงินลงทุน 800 ล้านเหรียญสหรัฐในระยะเวลา 4 ปี ตามสัดส่วนการถือหุ้น 8.5% ส่งโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ราเคซ จะตัดสินใจการลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ภายในไตรมาส 2 ปีนี้ ซึ่งเฟสแรกมีกำลังการผลิต 2 หมื่นบาร์เรลต่อวัน