BANPU ผนึก 3 ธุรกิจ โตยั่งยืน ลดถ่านหินสร้างสมดุลกำไร

HoonSmart.com >> บ้านปู เดินหน้าสู่ผู้นำธุรกิจพลังงานครบวงจร ผนึก 3 ธุรกิจหลัก พัฒนาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย สร้างตลาดใหม่-เพิ่มยอดขาย-กดต้นทุน ทำให้กำไรสมดุล ลดสัดส่วนธุรกิจถ่านหินจาก 75% เหลือ 40% หันไปเพิ่มธุรกิจไฟฟ้า เชลล์แก๊ส เทคโนโลยีพลังงาน ตั้งงบลงทุนปี 2562-2563 รวม 835 ล้านเหรียญสหรัฐ เล็งขยับเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าที่ตั้งไว้ 4,300 เมกะวัตต์ ส่วนแผนการดำเนินงานในปีนี้ คาดรายได้โต 20%

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบ้านปู (BANPU) และคณะผู้บริหารร่วมแถลงข่าวว่า บริษัทบ้านปูให้ความสำคัญกับการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจทั้งองค์กรที่มีอยู่ใน 10 ประเทศ ที่เอื้อประโยชน์และส่งเสริมซึ่งกันและกันในการบริหารทรัพยากร เพื่อสนับสนุนให้บริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยผนึกกำลังระหว่าง 3 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจแหล่งพลังงาน(ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ) ธุรกิจผลิตพลังงาน(โรงไฟฟ้า) และเทคโนโลยีพลังงาน (ระบบจัดเก็บพลังงาน ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ครบวงจร ระบบจัดการเทคโนโลยี) โดยมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำให้ต้นทุนลดลงและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ

“เราเข้าไปทำโรงไฟฟ้าที่เวียดนาม มีการตั้งสำนักงาน แต่ไม่ได้คิดแค่เรื่องไฟฟ้าไม่กี่วัตต์ ยังช่วยให้เราสามารถส่งถ่านหินเข้าไปขายในเวียดนามเป็นครั้งแรกด้วย ภาพการดำเนินงานของเราเปลี่ยนไปแล้ว แต่ปีนี้ยังเห็นไม่มาก จะเห็นในปี 2563 และเชลล์แก๊สลงทุนไปแล้ว ถ้าได้กำไรมากขึ้นก็จะลงทุนเพิ่ม “นางสมฤดีกล่าว

แนวโน้มการดำเนินงานในปี 2562 บริษัทฯ คาดว่ารายได้จะเติบโตประมาณ 20 % โดยตั้งเป้าปริมาณการขายถ่ายหินรวม 47.6 ล้านตัน จากปีก่อนทำได้ 45 ล้านตัน ส่วนราคาขาย รอดูเรื่องของราคาถ่านหินในตลาดโลกที่จะมีการปรับราคาใหม่ในช่วงปลายเดือนมี.ค.หรือเม.ย.นี้ เชื่อว่ายังอยู่ในระดับที่ดี ซึ่งตัวที่จะเข้ามาขับเคลื่อนธุรกิจในปีนี้ และการกระจายตัวของตลาดถ่านหิน โดยมีตลาดใหญ่ของถ่านหินคุณภาพสูงอยู่ที่ยุโรปและญี่ปุ่น ทำให้ไม่หวั่นไหวจากกฎเกณฑ์ทั้งจีนและอินโดนีเซีย

ส่วนธุรกิจเชลล์แก๊สที่ออกไปลงทุนที่สหรัฐอเมริกา ประมาณ 522 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นการลงทุนที่ดีพอสมควร ในปี 2561 บริษัทมีกำไรก่อนภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย(EBITDA)จากส่วนนี้จำนวน 101.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นมากจากระดับ 24.8 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2560 และปี 2562-2563 จะเติบโตมากขึ้น

ส่วนการลงทุนในธุรกิจผลิตและจำหน่ายรถไฟฟ้า (EV) ปัจจุบันผลิตในไทยและจีน กำลังขยายไปเวียดนาม เป็นการต่อยอดธุรกิจแบตเตอรี่ ที่บริษัทบ้านปูไปลงทุน 47%

” เรามีการศึกษา พัฒนาและลงทุนด้านเทคโนโลยมาเกือบ 2 ปี และเดินมาไกลมากแบบครบวงจร มีการลงทุนในโรงงานแบตเตอรี่,สมาร์ท แคมปัส คาดว่าต้องใช้เวลา 2-3 ปีหรือยาวกว่านั้นถึงจะสร้างกำไร แต่เป็นการเตรียมความพร้อมของเรา เมื่อไทยแลนด์ 4.0 “ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกล่าว

นางสมฤดีกล่าวว่า บริษัทฯยังตั้งเป้าสัดส่วนกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ในปี 2563 จะมาจากธุรกิจถ่านหิน 60% จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 75% ,ธุรกิจโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานหมดไป 20%, โรงไฟฟ้าใช้พลังงานทดแทน และธุรกิจแก๊ส เป็น 12% ส่วนปี 2568 จะมี EBITDA จากธุรกิจถ่านหินลดลงเหลือ 40%และธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน จะเพิ่มขึ้นมาที่ 5%

สำหรับงบลงทุนในปี 2562-2563 ตั้งไว 835 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แบ่งเป็น การลงทุนในธุรกิจก๊าซที่สหรัฐฯ ประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อใช้สำหรับซื้อแหล่งก๊าซ , ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ , ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานใช้หมดไปจำนวน 60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ, ถ่านหิน 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และธุรกิจสมาร์ท เอนเนอร์ยี่ 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ทางด้านผลการดำเนินงานในปี 2561 เป็นปีแรกในรอบ 36 ของบริษัทที่มีกำไรก่อนภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย(EBITDA)มากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยทำได้ 1,178 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22% และมีกำไรสุทธิ 205 ล้านเหรียญ ประมาณ 6,624 ล้านบาท ลดลง 12% จากปีก่อน เนื่องจากมีการบันทึกค่าใช้จ่ายกรณีหงสา และผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ ทำให้ขาดทุนจากอนุพันธ์ทางการเงิน ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าทุกๆ 10 สตางค์ จะมีผลกระทบต่อกำไรของบริษัท 25 ล้านบาท ขณะเดียวกันบริษัทมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งสามารถทำให้บริษัทเติบโตในอนาคต โดยมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนเพียง 1 เท่า ทั้งนี้การลงทุนมีแหล่งเงินทุนพร้อม

นายสุธี สุขเรือน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) กล่าวว่า ในปี 2562 บริษัทฯ จะมีโรงไฟฟ้าที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เพิ่มอีก 6 แห่ง กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น จำนวน 114.2 เมกะวัตต์ (MW) แบ่งเป็น ส่วนขยายโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมที่จีน 1 โครงการ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ญี่ปุ่นจำนวน 5 โครงการ

ปัจจุบันบริษัทฯ มีโรงไฟฟ้าที่จ่ายไฟเข้าระบบ คิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น รวม 2,145 MW และยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 11 แห่ง กำลังการผลิตรวม 724 MW คาดว่าจะ COD จนครบได้ในปี 2566 ทำให้ COD เพิ่มเป็น 2,869 MW คิดเป็นสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 16% ส่วนเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 4,300 MW ในปี 2568 คาดว่าจะทำได้ครบก่อนเป้าหมาย เพราะมองเห็นโอกาสในการลงทุนที่ประเทศเวียดนาม จีน ญี่ปุ่น และไทย จากความต้องการใช้ไฟฟ้าและไอน้ำสูงมาก บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ประเทศเวียดนาม กำลังการผลิต 80 MW

ส่วนแผนการลงทุนในปี 2562-2563 ตั้งงบไว้จำนวน 125 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นการลงทุนในโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา จำนวน 60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และใช้ลงทุนพลังงานหมุนเวียน 65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ