เศรษฐีไทย : รวย (ยิ่งขึ้น) กุนซือชั้นนำโลกบุกบริหาร “wealth”

HoonSmart.com>>คนไทยรวยจริง! บริษัทที่ทำธุรกิจบริหารความมั่งคั่งระดับโลก และมีอายุนับร้อยปี แห่เข้ามาหาตั้งสำนักงาน หรือเข้ามาร่วมลงทุนในเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะมองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่มีขนาดใหญ่มาก ยังมีคนรวยอีกจำนวนมาก ไม่รู้ว่าจะเอาเงินเย็นๆเหล่านี้ไปต่อยอดการลงทุนที่ไหนดี?

ล่าสุด กลุ่ม LGT (แอลจีที) แห่งราชรัฐลิกเตนสไตส์ เป็นธนาคารเก่าแก่ในยุโรป อายุ 99 ปี ดำเนินธุรกิจหลักบริหารความมั่งคั่ง และดูแลการลงทุนทรัพย์สินของราชวงศ์แห่งลิกเตนสไตส์ เพิ่งเข้ามาเปิดบริษัทหลักทรัพย์ แอลจีที(ประเทศไทย) วันที่ 6 มี.ค. 2562 ทื่ผ่านมา โดยมีเจ้าชายฟิลลิพ ฟอน อุนด์ ซู ลิกเตนสโตน์ ประธานกรรมการบริหารของ LGT มาร่วมงานและเปิดแถลงข่าวถึงการตัดสินใจเข้ามาตั้งสำนักงานในประเทศไทย นับเป็นแห่งที่ 3 ในเอเชีย หลังจากเข้าไปเปิดสำนักงานในฮ่องกงที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินของเอเชียมากว่า 30 ปี และเปิดสำนักงานในสิงคโปร์ มาร่วม 20 ปี

เจ้าชายฟิลลิพ ฟอน อุนด์ ซู ลิกเตนสโตน์

เจ้าชายฟิลลิพ ฟอน อุนด์ ซู ลิกเตนสโตน์ กล่าวว่า กลุ่ม LGT เล็งเห็นว่าประเทศไทยเป็นตลาดที่มีการเติบโตที่สำคัญ จึงมาเปิดสำนักงานในการขยายการเติบโตในเอเชีย โดยมุ่งหวังที่จะให้บริการบริหารความมั่งคั่งเต็มรูปแบบแก่นักลงทุนรายใหญ่ และครอบครัว รวมถึงลูกค้าระดับองค์กร

“LGT เป็นกลุ่มบริษัทด้านการให้บริการไพรเวทแบงกิ้งและจัดการสินทรัพย์ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีราชวงศ์แห่งลิกเตนสไตส์เป็นเจ้าของและบริหารงาน ในช่วงกลางปี 2561 บริษัทสินทรัพย์รวมมูลค่าถึง 2.07 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6.5 ล้านล้านบาท สำหรับลูกค้ารายบุคคลระดับมหาเศรษฐี และลูกค้าระดับองค์กร ส่วนในเอเชีย LGT เป็นไพรเวทแบงกิ้งใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 12 ซึ่งบริหารสินทรัพย์มากกว่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.9 ล้านล้านบาท”

สำหรับจุดแข็งของกลุ่ม LGT มีโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่มั่นคง คือราชวงศ์แห่งลิกเตนสไตส์เป็นเจ้าของและบริหาร และไม่ได้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จึงไม่ต้องเร่งสร้างผลกำไร ขณะเดียวกันมีเครือข่ายระหว่างประเทศที่ครอบคลุม มีสำนักงานมากกว่า 20 แห่งในยุโรป เอเชีย สหรัฐอเมริกา ตะวันออกกลาง สิ่งที่ทำให้ LGT แตกต่าง ลูกค้าสามารถลงทุนได้ดั่งสมาชิกราชวงศ์ และได้รับผลประโยชน์ผ่านความเชี่ยวชาญด้านการลงทุน ทำให้ความต้องการไปด้วยกันทั้งสองฝ่าย

นอกจากนี้กลุ่ม LGT มีความแข็งแกร่งทางการเงิน มีเงินกองทุนขั้นที่ 1 (Tier1) สูงถึง 18.7% ขณะที่เกณฑ์ขั้นต่ำอยู่ที่ 13% และยังเป็นหนึ่งในไพรเวท แบงกิ้งไม่กี่แห่งที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลก โดย มูดี้ส์ ให้อันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวที่ Aa2 และระยะสั้น P-1 ส่วนสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส ให้ระยะยาว A+ และสั้น A-1 และนิตยสาร โกลบอล ไฟแนนซ์จัดให้ LGT เป็น 1 ใน 50 ธนาคารที่มีความปลอดภัยที่สุดในโลก

“เฮนรี ไลเมอร์” ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ LGT ไพรเวท แบงกิ้ง ในภูมิภาคเอเชีย เข้ามาร่วมงานในกลุ่ม LGT มานาน 25 ปี กล่าวว่า การเปิดสำนักงานในกรุงเทพฯ นับเป็นก้าวสำคัญทางกลยุทธ์ในการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทวีปเอเชีย ผลงานในปีที่ผ่านมามีการเติบโตอย่างน่าพอใจ และสำนักงานยังเปิดโอกาสให้สามารถให้คำแนะนำและให้บริการลูกค้าคนไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงประเทศไทยเป็นตลาดที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีโอกาสที่น่าสนใจมากมาย

กลุ่ม LGT มุ่งมั่นการทำธุรกิจในเอเชีย ส่งผลให้จำนวนลูกค้า 1 ใน 4 ของลูกค้าทั้งหมดมาจากเอเชีย และในปี 2560 ได้ประสบความสำเร็จในการซื้อกิจการไพรเวทแบงก์จากธนาคาร เอบีเอ็น แอมโร ในฮ่องกง สิงคโปร์ และดูไบ ทำให้สินทรัพย์ภายใต้การบริหารของกลุ่มในเอเชียขยายตัว มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในเอเชียมีพนักงาน 800 คน จากทั้งหมด 3,000 คน

“เอกภพ เมฆกัลจาย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ แอลจีที(ประเทศไทย) กล่าวว่า กลุ่ม LGT เปิดบริษัทหลักทรัพย์ในประเทศไทย มุ่งธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง เพราะธุรกิจนี้จะเติบโตอีกมาก นักลงทุนมีเงินออมสูง และกฎเกณฑ์ของทางการเงินยังเอื้ออำนวยให้ออกไปลงทุนในต่างประเทศได้ สามารถบริหารความมั่งคั่งไร้พรมแดน
” นักลงทุนไทยหลายคนรวย และธุรกิจครอบครัวผ่านเข้าสู่เจนเนอเรชั่นที่ 3 และ 4 มีเงินในครอบครัวจำนวนมาก ต้องการนำไปลงทุนหรือบริหารให้ผลตอบแทนสูงขึ้น เราสามารถให้คำแนะนำการลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุน ได้จากประสบการณ์ยาวนาน และมีผู้เชี่ชยวชาญ และที่สำคัญกลุ่มเรามีความมั่นคง

ขณะที่ปี 2561 ยักษ์ใหญ่ธุรกิจไพรเวทแบงกิ้งชั้นของโลกได้เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยแล้ว โดยธนาคารไทยพาณิชย์ จับมือ ‘จูเลียส แบร์’ อายุ 129 ปี กลุ่มธุรกิจไพรเวทแบงกิ้งชั้นนำจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ร่วมทุน สัดส่วน 60 ต่อ 40 ตั้งบริษัทบริหารความมั่งคั่งครั้งแรกในเอเชีย เพื่อนำธุรกิจบริการความมั่งคั่ง ของไทยสู่บริการระดับโลก เจาะกลุ่มลูกค้าผู้มีความมั่งคั่งระดับสูง

ก่อนหน้านี้ “อาทิตย์ นันทวิทยา” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “ลูกค้าผู้มีความมั่งคั่งระดับสูงจะมีโอกาสได้รับข้อมูลเชิงลึกจากจูเลียส แบร์ ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัย บริการด้านการลงทุนต่างๆ ตลอดจนบริการให้คำปรึกษาด้านการวางแผนและการลงทุนจากทีมงานมืออาชีพระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญสูง สามารถบริหารจัดการสินทรัพย์ที่มีอยู่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ลงทุนในต่างประเทศได้เต็มที่ตามที่กฎหมายอำนวยผ่านบริการต่างๆ ช่วยผลักดันการเติบโตและสร้างปรากฎการณ์ครั้งใหม่ให้กับธนาคารไทยพาณิชย์ ให้สามารถเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) ของธุรกิจไพรเวทแบงกิ้งเป็น 2 เท่าหรือเพิ่มเป็น 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 9 แสนล้านบาท ภายใน 3 – 5 ปีตามที่วางแผนไว้”

ทั้งนี้กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งระดับสูง (HNWIs) ในประเทศไทยมี ประมาณ 30,000 ราย และมีมูลค่ารวมประมาณ 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 9 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกันยังมีอัตราการเติบโตสูง ในปี 2559 เติบโต 12.7% และเพิ่มเป็น 13.3% ในปี 2560

ส่วนธนาคารกสิกรไทย ได้ร่วมมือทำธุรกิจไพรเวทแบงกิ้ง กับ ธนาคารลอมบาร์ด โอเดียร์ จากสวิตเซอร์แลนด์ เช่นเดียวกัน อายุมากกว่า 200 ปี

สำหรับนักลงทุนไทยที่ไม่มีความมั่งคั่งระดับสูง แม้ไม่มีโอกาสได้รับบริการชั้นเลิศจากบริษัทชั้นนำของโลกเหล่านี้ แต่บริษัทหลักทรัพย์ไทยหรือบริษัทลูกครึ่งในประเทศ อยู่ระหว่างการขออนุญาตสำนักงานก.ล.ต. ขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจให้คำแนะนำและการบริหารการลงทุนในหลักทรัพย์ทุกประเภท ซึ่งเชื่อว่าในที่สุดลูกค้าจะได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนด้วยวิธีเดิมๆ เหมือนที่ผ่านมา อ่านบทวิเคราะห์ รับคำแนะนำจากมาร์เก็ตติงหรือฟังข่าวลือต่างๆนานา ไม่มีการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุน

เชื่อว่า การแข่งขันในด้านการให้บริการ คำแนะนำและการบริหารเงินลงทุน โดยเฉพาะการบริหารความมั่งคั่ง ทั้งจากสถาบันการเงินไทยและต่างประเทศ จะมีส่วนช่วยให้คนไทยไม่ลำบากยามเกษียณ!!