เอกชนโยกซบกอง PVD พูลฟันด์ ชูทางเลือกลงทุนหลากหลาย

HoonSmart.com>> ก.ล.ต.เผยบริษัทเอกชน 3 แห่ง ปิดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โอนเข้ากองทุนแบบมาสเตอร์พูลฟันด์ มีหลายนายจ้าง หลากนโยบายลงทุน ลูกจ้างมีทางเลือกเพิ่มและประหยัดค่าใช้จ่ายกองทุน

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในฐานะนายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ตาม พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกาศการเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) จำนวน 3 กอง ของนายจ้างจำนวน 3 ราย ได้แก่ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลุ่มบริษัท อินโดรามา ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ทะเบียนเลขที่ 29/2540 ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2561 , กองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลุ่มบริษัท น้ำมันอพอลโล (ไทย) จำกัด ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ทะเบียนเลขที่ 19/2538 ตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย.2561 และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลุ่มบริษัท ไอโออิ กรุงเทพ ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ทะเบียนเลขที่ 502/2533 ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.2561

การเลิกกองเพื่อโอนย้ายไปยังกองฯ แบบ master pooled fund ที่มีหลายนายจ้างและหลายนโยบายการลงทุน จากเดิมทั้ง 3 กองนั้นเป็นกองแบบ single fund ที่มีนโยบายการลงทุนเพียงนโยบายเดียว ทั้งนี้ การโอนย้ายไปนั้น เป็นไปตามความประสงค์ของนายจ้างที่ต้องการให้ลูกจ้างสมาชิก PVD มีทางเลือกมากขึ้นและประหยัดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความคล่องตัวในการจัดการกองทุน

ทั้งนี้ PVD คือ กองทุนภาคสมัครใจที่มีเป้าหมายการออมระยะยาวเพื่อให้มีเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ ที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันตั้งขึ้น เป็นเงินออมที่จะมาจากส่วนของลูกจ้างและนายจ้าง และจะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี

ปัจจุบันจำนวนนายจ้าง สมาชิก และมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ทั้งระบบยังคงขยายตัวต่อเนื่อง

ข้อมูลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ณ ธ.ค. 61

-จำนวนนายจ้าง 18,358 แห่ง เพิ่มขึ้น 811 แห่ง หรือ 4.62% จากปี 60

-สมาชิก 3,052,619 คน เพิ่มขึ้น 93,938 คน หรือ 3.17% จากปี 60

-มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1,128,848 บาท เพิ่มขึ้น 46,229 ล้านบาท หรือ 4.27% จากปี 60

-กองทุน 382 กอง ลดลง 13 กอง หรือ 3.29% จากปี 60 เนื่องจากนายจ้างยกเลิกกอง single fund เพื่อโอนย้ายไปเข้า master pooled fund