PACE ดิ้นแก้ C หลุดครึ่งปีหลัง – เล็งลดทุน ล้างขาดทุนเฉียดหมื่นล.

PACE แก้ปัญหาใหญ่ เล็งลดทุน-ล้างขาดทุนสะสมเฉียด 1 หมื่นล. คาดครึ่งปีหลัง ปลดเครื่องหมาย C หลังเพิ่มทุนและรับรู้รายได้โครงการ ดันส่วนผู้ถือหุ้นขยับสูงกว่า 50 % ดัน “ดีน แอนด์ เดลูก้า” เข้าตลาดหุ้น 2 ปีข้างหน้า วางเป้าหมายระยะยาว หารายได้ประจำมากขึ้น ไม่เน้นการลงทุนโครงการขนาดใหญ่

นายต่อศักดิ์ วยาภรณ์วิจิตร ผู้จัดการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น (PACE) คาดว่า หุ้น PACE จะหลุดจากเครื่องหมาย C ได้ประมาณครึ่งหลังปีนี้ แนวทางแก้ไข จะเป็นการปรับโครงสร้างทางการเงิน โดยการเพิ่มทุน รวมถึงการสร้างผลกำไรจากการดำเนินงาน

ล่าสุด PACE เพิ่มทุนจดทะเบียน เสนอขายหุ้นให้กับผู้ถือหุ้นเดิม รวมถึงการออกใบสำคัญแสดงสิทธิ(วอร์แรนต์) ฟรีกับผู้ถือหุ้นเดิม ทำให้อัตราส่วนของผู้ถือหุ้นต่อทุนชำระแล้ว จาก 10.74 % ขึ้นมาอยู่ที่ 23.72 % และเพิ่มเป็นมากกว่า 50 % หลังจากนำผลกำไรจากการโอนโครงการในครึ่งปีหลัง ซึ่งมียอดรอรับบันทึกรายได้รวม 12,000 ล้านบาท จาก 3 โครงการ ได้แก่ โครงการนิมิต หลังสวน โครงการวินด์เซลล์ นราธิวาส และโครงการมหาสมุทร วิลล่า และยังมีรายได้จากโครงการมหานคร เดอะริทซ์-คาร์ลตัน เรสซิเดนเชส บางกอก ที่รอบันทึกจำนวน 1,435 ล้านบาท จะทยอยรับรู้ภายในปีนี้

โครงการนิมิต หลังสวน มีมูลค่าโครงการ 8,000 ล้านบาท ขายแล้ว 6,900 ล้านบาท คิดเป็น 88.20% ส่วนโครงการ วินด์เซลล์ นราธิวาส มีมูลค่าโครงการ 3,000 ล้านบาท ขายแล้ว 792 ล้านบาท คิดเป็น 28% และโครงการมหาสมุทร วิลล่า มูลค่าโครงการ 4,000 ล้านบาท จำนวน 80 หลัง ขายแล้ว 14 หลัง มูลค่า 712 ล้านบาท ส่วนโครงการมหาสมุทร คันทรี่ คลับ และสปอร์ต คลับ อยู่ระหว่างหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุน

นายต่อศักดิ์ กล่าวอีกว่า เงินที่ได้จากการเพิ่มทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท นำไปชำระหนี้ 1,000 ล้านบาท ทำให้หนี้ของบริษัทลดเหลือ 12,000 ล้านบาท คาดว่า หนี้จะหมดภายในปีหน้า เพราะจะมีเงินที่ได้จากโครงการนิมิต หลังสวน ประมาณ 5,500 ล้านบาท, โครงการวินด์ เซลล์ นราธิวาส ประมาณ 2,000 ล้านบาท และโครงการมหาสมุทร วิลล่า ประมาณ 3,000 ล้านบาท รวมถึงรายได้จากธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มกูร์เม่ต์ ดีน แอนด์ เดลูก้า (Dean & Deluca) เข้ามา

บริษัทมีขาดทุนสะสมอยู่ที่ 9,971.10 ล้านบาท แนวทางการลดขาดทุนสะสม ขณะนี้กำลังศึกษาแผนลดทุนจดทะเบียน รวมถึงเงินที่ได้จากดำเนินธุรกิจ เพื่อมาลดขาดทุนสะสมดังกล่าว

ผู้จัดการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ PACE กล่าวอีกว่า บริษัทมีแผนที่จะนำธุรกิจดีน แอนด์ เดลูก้า เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายใน 1-2 ปีนี้ โดยธุรกิจดีน แอนด์ เดลูก้า ในประเทศไทย ปัจจุบันนี้มี 12 สาขา ผลประกอบการเทิร์นอะราวด์ตั้งแต่ปีก่อนแล้ว และคาดว่าในปีนี้มีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากธุรกิจอาหารมีมาร์จิ้นที่ดี และมีแผนจะนำสาขาในภูมิภาคเอเซีย มารวมอยู่ ซึ่งจะทำให้มีสาขาทั้งหมด 78 สาขาก่อนที่จะนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่อไป

นายต่อศักดิ์ กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจในระยะยาวของบริษัท จะมุ่งเน้นหารายได้จากรายได้ประจำ ซึ่งมาจากธุรกิจแฟรนไชส์ ของดีน แอนด์ เดลูก้า ซึ่งที่ผ่านมา ได้ทำสัญญากับพันธมิตรหลายรายได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เพื่อขยายในตลาดจีน และบริษัท เอ็นพีพีจี(ประเทศไทย) (NPPG) ที่ขยายในไทย โดยมีแผนเปิดสาขาในภาคใต้ เช่น ภูเก็ต และล่าสุด ได้ทำสัญญากับ Lagardère Travel Retail จากฝรั่งเศส ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมค้าปลีก ร้านปลอดภาษี ในสนามบินและสถานีรถไฟทั่วโลก