ผู้ถือหุ้น BEM ไฟเขียวยุติข้อพิพาทกทพ.

HoonSmart.com>>ผู้ถือหุ้น”ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ” มาร่วมประชุมอย่างล้นหลาม อนุมัติยุติข้อพิพาทกับ กทพ. แลกยืดอายุสัมปทานจนถึงปี 2600 ส่วนผลงานในปีนี้ คาดธุรกิจทางด่วนโต 1-2% จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 5-7%

บริษัท ทางด่วนและรถไฟกรุงเทพ (BEM) จัดการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2562 ในวันนี้ (18 มี.ค.) โดยได้รับความสนใจจากผู้ถือหุ้นจำนวนมาก ซึ่งที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบ ด้วยคะแนนเสียง 99.98% ในวาระการยุติข้อพิพาทกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)ทั้งหมด ทั้งที่มีการฟ้องร้องคดีต่อศาล และที่เสนอต่อคณะอนุญาโตตุลาการ โดยมีมูลค่าข้อพิพาทที่บริษัทยื่นฟ้องต่อ กทพ.ทั้งหมดประมาณ 137,517 ล้านบาท พร้อมทบทวนและแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 รวม 3 สัญญาออกไปจนถึงสิ้นสุดในปี 2600 ปรับค่าผ่านทางเพิ่มขึ้นแบบคงที่ทุกระยะเวลา 10 ปี

นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์ กรรมการ BEM กล่าวในที่ประชุมผู้ถือหุ้นว่า การยุติข้อพิพาทระหว่างบริษัทกับ กทพ. ขณะนี้เรื่องอยู่ที่กระทรวงคมนาคมพิจารณา ส่วนจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อใดยังระบุไม่ได้ และเชื่อว่าภาครัฐคงจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะหากล่าช้าก็จะต้องเสียดอกเบี้ยจากการฟ้องร้องเพิ่มขึ้น

นางพเยาว์ มริตตนะพร กรรมการผู้จัดการ BEM กล่าวในที่ประชุมว่า ในข้อตกลงที่บริษัททำกับ กทพ. จะมีการลงทุนก่อสร้างปรับปรุงทางด่วนชั้นบน จากงามวงศ์วานไปจนถึงอโศก ในระยะทาง 20 กิโลเมตร เพื่อลดการจราจรที่หนาแน่น ซึ่งจะใช้เงินลงทุนประมาณ 31,500 ล้านบาท มาจากการให้บริการทางด่วนที่ได้รับการต่ออายุสัมปทาน ประมาณ 6,000 ล้านบาทต่อปี จึงไม่เป็นภาระต่อบริษัท การก่อสร้างดังกล่าวจะใช้เวลาประมาณ 4 ปี

นายธนวัฒน์ วรรณดิษฐ์ ผู้จัดการอาวุโสแผนกนักลงทุนสัมพันธ์ BEM กล่าวว่า การขอมติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นยุติข้อพิพาทกับ กทพ. เป็นการเตรียมการรองรับไว้ก่อน หาก ครม.มีการพิจารณาจะได้ไม่ต้องขอความเห็นชอบจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นอีก

นายธนวัฒน์ คาดว่ารายได้จากธุรกิจทางด่วนในปีนี้จะเติบโต 1-2% เป็นระดับเดียวกับการเติบโตของปริมาณจราจรบนทางด่วนโดยรวม เนื่องจากทางด่วนโครงข่ายในเขตเมือง ส่วนเอ และส่วนบี ไม่เติบโต เพราะรับผลกะทบจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ ส่วนโครงข่ายนอกเมือง ได้แก่ เส้นพระราม 9-ศรีนครินทร์ รวมถึงเส้นทางบางปะอิน-แจ้งวัฒนะ และทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพ มีการเติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก

ส่วนธุรกิจรถไฟฟ้า คาดจำนวนผู้โดยสารจะเติบโตประมาณ 5-7% จากปีก่อนเติบโต 5.5% ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมาจากส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน

นายธนวัฒน์ กล่าวว่า โครงสร้างรายได้ของบริษัทมาจากธุรกิจทางด่วนอยู่ที่ 65% ธุรกิจรถไฟฟ้า 30% ส่วนอีก 5% มาจากบริษัทย่อย คาดว่าธุรกิจรถไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต เพราะส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินสองส่วน และมีการเชื่อมโครงข่ายต่างๆ ทำให้ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น