“ธนาธร” สร้างมาตรฐานการเมือง เลิกยุ่งทรัพย์สินส่วนตัว 5 พันล้าน

HoonSmart.com>>”ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” แสดงสปิริต นักธุรกิจเล่นการเมืองโอนทรัพย์สินส่วนตัว 5,000 ล้านบาท ให้บลจ.ภัทรดูแลเข้มข้น ตามมาตรฐาน blind trust ซึ่งกฎหมายบังคับใช้กับรัฐมนตรีมานานแล้ว ตามพ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 และรัฐธรรมนูญ หมวด 9 การขัดกันแห่งผลประโยชน์ มาตรา 187 เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่การเมือง มารดาเตรียมขายหุ้นมติชนทั้งหมด

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แถลงถึงแนวทางการจัดการทรัพย์สินส่วนตัวว่า จะเก็บทรัพย์สินที่ใช้ในชีวิตประจำวันไว้บางส่วน เช่น บ้าน รถ ส่วนที่เป็นหุ้น และการลงทุนจะโอนให้กับบลจ.ภัทร เป็นผู้ดูแลกองทุนส่วนบุคคลในช่วงปลายเดือนพ.ค. 2562 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำทางกฎหมายด้วยการโอนหุ้นออก และเพื่อสร้างมาตรฐานจริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใหม่ให้มีความโปร่งใสมากขึ้น จะทำให้ไกลกว่ากฎหมาย คือทำให้มองไม่เห็น สั่งการไม่ได้ ด้วยความสมัครใจ นับเป็นครั้งแรกของนักการเมือง ตั้งบุคคลที่สามที่มีความน่าเชื่อถือมาดูแลทรัพย์สิน ทั้งนี้ยังตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินไม่เสร็จ คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 5,000 ล้านบาท

หลักการที่จะเขียนร่วมกับ บลจ.ภัทร มีเงื่อนไขว่า 1.จะไม่สามารถกระทำการใดๆ ที่มีลักษณะเป็นการเข้าไปบริหาร ครอบงำ หรือออกคำสั่งเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินทั้งหมดของตนเอง 2.เพื่อป้องกันปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน บริษัทจะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดให้นายธนาธรหรือบุคคลอื่นใดได้รับทราบถึงรายละเอียดการบริหารจัดการทรัพย์สินทั้งหมด และ 3.บริษัทจะต้องไม่เข้าไปลงทุนเป็นหุ้นส่วนในบริษัทที่เป็นคู่ค้ากับรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานรัฐใดๆ นอกจากนี้จะมีเงื่อนไขจะต้องไม่ซื้อหุ้นไทย ถ้าจะลงในหุ้นต้องจะลงทุนในหุ้นต่างประเทศเท่านั้น เพื่อจำกัดข้อครหาทุกกรณีว่านโยบายที่ออกไปนั้นจะเป็นนโยบายที่เอื้อต่อผลประโยชน์ส่วนตน นอกจากนี้ ยังมีเงื่อนไขที่ระบุว่าการได้กรรมสิทธิ์ในการบริหารจัดการทรัพย์สินกลับมาเป็นของตัวเอง จะต้องผ่านไปแล้วสามปีหลังจากพ้นตำแหน่งทางการเมือง

สำหรับวัตถุประสงค์ของการดำเนินการดังกล่าว เพื่อสร้างมาตรฐานการทำการเมืองใหม่ มีข้อดี คือไม่ต้องวอกแวกไปกับการจัดการทรัพย์สินของตัวเอง ทำให้ทุ่มเทพละกำลังและเวลาไปในการทำงานรับใช้ประชาชนอย่างเต็มที่ และแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ผลักดันให้มาทำงานการเมืองก็เพื่อทำให้สังคมดีขึ้น ไม่ใช่เพื่อตัวเอง แม้จะมีขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดให้ทำ แต่สิ่งที่ตัดสินใจทำมากกว่านั้นคือสร้างมาตรฐานใหม่ ยกระดับความโปร่งใส มาตรฐานการดูแลผลประโยชน์ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ไปไกลกว่ากฎหมาย

” นักธุรกิจเข้ามาทำงานการเมืองไม่ใช่เรื่องใหม่ และในต่างประเทศมีการสร้างมาตรฐานเพื่อให้สาธารณชนไว้วางใจอย่างชัดเจน ซึ่งรูปแบบที่ใช้กันแพร่หลายที่สุดคือรูปแบบของ blind trust หรือการโอนทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งหมดเข้าไปอยู่ในกองทุน ให้บลจ. คือบุคคลที่สามเป็นผู้ดูแล และ blind หมายความว่าเจ้าของทรัพย์สินจะมองไม่เห็น และอำนาจในการบริหารทรัพย์สินอยู่ที่ผู้รับมอบอำนาจแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น” นายธนาธร กล่าว

ในรัฐธรรมนูญปัจจุบันระบุไว้แล้วว่าให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในการถือหุ้นบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐ และรัฐมนตรีจะต้องโอนทรัพย์สินไปให้บริษัทจัดการทรัพย์สินเป็นผู้ดูแล แต่ไม่ได้ระบุให้ต้องทำให้เป็น blind ในต่างประเทศที่เป็นประชาธิปไตยส่วนใหญ่ นักการเมืองจะทำการเอาทรัพย์สินของตนเองเข้าไปอยู่ใน blind trust เป็นมาตรฐานทางศีลธรรมที่ไม่ได้มีการบังคับ นี่คือรูปแบบการจัดการทรัพย์สินที่จะลบข้อครหาทางสังคมได้ ในประเทศไทยไม่มีกฎหมายที่รองรับ blind trust จึงทำเป็น blind trust ในลักษณะเดียวกันไม่ได้ แต่สิ่งที่ตนกำลังจะทำร่วมกับภัทร เป็นนวัตกรรมใหม่ เป็นการทำให้ blind ด้วยความสมัครใจโดยไม่ต้องมีกฎหมายมาบังคับ

สาเหตุทึ่เลือกบลจ.ภัทร เป็นผู้บริหารจัดการกองทุน เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีธุรกิจร่วมกัน มีความเป็นมืออาชีพ ได้รับการยอมรับว่าเป็นแถวหน้าของวงการการเงินในประเทศไทย และเชื่อมั่นว่า บลจ.ภัทร จะไม่ยอมจำนนต่อคำสั่งใดๆ เมื่อตนมีอำนาจ

นายธนาธรยังกล่าวกรณีนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดา จะขายหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัทมติชน (MATI) ออกไปในระยะเวลาอันใกล้นี้ เพื่อความโปร่งใสและสบายใจของสังคม ส่วนตัวไม่เคยมีส่วนร่วมในการตัดสินใจซื้อหุ้นมติชนของครอบครัวเลย เพียงถูกส่งไปนั่งทำงานเป็นกรรมการบริหารเท่านั้น และทำหน้าที่อย่างสุจริตมาตลอด โดยได้ตัดสินใจลาออกจากทุกตำแหน่งทางธุรกิจมาตั้งแต่เดือนเดือนพ.ค.2561 แล้ว และครอบครัวม่เคยส่งใครไปนั่งบริหารแทน

ส่วนกรณีข้อครหาว่าการทำงานการเมืองจะมีผลประโยชน์กับบริษัทไทยซัมมิทหรือไม่ นายธนาธร กล่าวยืนยันว่า รายได้เกือบทั้งหมดของไทยซัมมิทมาจากคู่ค้าระดับนานาชาติ แทบไม่มีหน่วยงานรัฐเลย และที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ก็ไม่เคยเป็นคู่สัมปทานกับรัฐ ไม่เคยมีแนวคิดที่จะทำธุรกิจกับรัฐ และเชื่อว่าแนวคิดนี้จะดำรงอยู่ต่อไป แต่หากในอนาคตบริษัทไทยซัมมิทจะทำโครงการร่วมกับรัฐ ตนจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการพิจารณาใดๆทั้งสิ้น และขอให้สาธารณะร่วมกันตรวจสอบอย่างเข้มข้นด้วย

แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจกองทุนรวม กล่าวว่า เรื่อง blind trust คือ การโอนหุ้นให้บลจ.ดูแลในระหว่างที่นักการเมืองดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทยและมีมานานแล้ว กฎหมายไม่ได้ห้ามให้รัฐมนตรีเข้าถือหุ้น แต่เพียงกำหนดไม่เกิน 5% ของจำนวนหุ้นที่ถือ หากถือเกินต้องขายหรือลดสัดส่วนลง ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 269 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หมวด 9 การขัดกันแห่งผลประโยชน์ มาตรา 187

ทั้งนี้ ในพ.ร.บ. การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี มาตรา 5 ในกรณีที่รัฐมนตรีประสงค์จะได้รับประโยชน์จากการเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทในส่วนที่เกินกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในมาตรา 4 (5%) ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี และ2.โอนหุ้นส่วนหรือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นให้นิติบุคคลภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้แจ้งให้ประธานป.ป.ช.ทราบ และเมื่อได้โอนหุ้นส่วนหรือหุ้นให้กับนิติบุคคลใดแล้ว ให้รัฐมนตรีแจ้งเป็นหนังสือให้ประธานป.ป.ช.ทราบภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้โอนหุ้นส่วนหรือหุ้นนั้น

มาตรา 6 นิติบุคคลที่รัฐมนตรีจะโอนหุ้นส่วนหรือหุ้นให้จัดการตามพระราชบัญญัตินี้ได้ ต้องเป็นนิติบุคคลที่มีอำนาจจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือนิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นตามกฎหมายโดยความเห็นชอบของ
คณะกรรมการ ป.ป.ช.

” รัฐมนตรีทำมานานแล้ว ในการโอนทรัพย์สินให้กับนิติบุคคลที่มีอำนาจจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามกฎหมาย และบลจ.ทำหน้าที่รายงานทรัพย์สินต่อป.ป.ช. แทนรัฐมนตรี”แหล่งข่าวกล่าว