ทรูมูฟฯ เล็งขายหุ้นกู้ 1.2 หมื่นล. ทริสห่วงหนี้สูง รอครบดีล 7 หมื่นล.

HoonSmart.com>>ทริสฯ จัดเครดิต BBB+ ให้ทรู มูฟ เอชฯ บริษัทวางแผนขายหุ้นกู้ 1.2 หมื่นล้านบาท อายุ 6 ปี เตรียมไว้ชำระหนี้ที่จะครบกำหนด-เป็นเงินทุนหมุนเวียน ชี้อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากภาระหนี้ที่สูง การแข่งขันรุนแรง ส่งผลต่อรายได้ชะลอตัว ผลดำเนินงานปี 2561 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ สรุปภาระหนี้หุ้นกู้รวม 11 ชุด ถึงกำหนดไถ่ถอนปี 2564-2572

บริษัททริสเรทติ้งยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ที่ระดับ “BBB+” พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 12,000 ล้านบาท ที่ระดับ “BBB+” โดยบริษัทจะนำเงินไปชำระหนี้เงินกู้ยืมที่จะครบกำหนดและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

อันดับเครดิตสะท้อนถึงการเป็นบริษัทหนึ่งในกลุ่มธุรกิจหลักภายใต้การบริหารงานของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ “BBB+/คงที่” และสถานะในการแข่งขันที่ดีของบริษัท

อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังมีข้อจำกัดจากภาระหนี้ของบริษัทที่อยู่ในระดับสูง และการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งอาจส่งผลให้ความสามารถในการสร้างรายได้ชะลอตัว จากการลงทุนจำนวนมากในด้านคลื่นความถี่ และโครงข่ายการให้บริการที่ครอบคลุมของบริษัท

ในปี 2561 ตลาดรวมของธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ วัดจากรายได้ของบริษัทจากการให้บริการ ซึ่งไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม (IC) โต 1.9% เทียบกับปีก่อนหน้า อยู่ที่ 2.61 แสนล้านบาท ตลาดได้ส่งสัญญาณการเติบโตที่ชะลอตัวลง เมื่อเทียบกับการเติบโตเฉลี่ยที่ 5.5% ต่อปีในปี 2559-2560 ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ผู้ให้บริการเสนอการให้บริการการใช้งานข้อมูลแบบไม่จำกัดจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น

ในปี 2561 บริษัทมีรายได้จากการให้บริการซึ่งไม่รวมค่า IC เติบโต 7.6% อยู่ที่ 7.28 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการของทริสฯเล็กน้อย มีรายได้รวม 1.08 แสนล้านบาทไม่รวมผลกระทบจากรายการขายสินทรัพย์ให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิทัล ( DIF) ซึ่งน้อยกว่าประมาณการของทริสที่ 1.12 แสนล้านบาท สาเหตุหลักมาจากรายได้ค่าเช่าโครงข่ายที่น้อยกว่าที่คาด ซึ่งเป็นผลจากข้อตกลงในการระงับข้อพิพาทเรื่องเสาสัญญาณระหว่างบริษัท กับ บริษัท กสท โทรคมนาคม

บริษัทตกลงโอนกรรมสิทธิ์ในเสาสัญญาณให้แก่กสท และตกลงจ่ายเงินจำนวน 1.57 หมื่นล้านบาทเป็นค่าตอบแทนการใช้สิทธิ์ในเสาสัญญาณเป็นเวลา 30 ปี นอกจากนี้ บริษัทยังมีค่าใช้จ่ายพิเศษที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมดังกล่าวอีก 1,100 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ข้อตกลงดังกล่าวทำให้ความเสี่ยงเกี่ยวกับข้อพิพาทด้านกฎหมายหลายกรณีระหว่างบริษัทกับ กสท. รวมจำนวน 7.5 หมื่นล้านบาทหมดไป

จากรายการยุติข้อพิพาทกับ กสท. และรายได้ที่น้อยกว่าประมาณการ คาดว่าสถานะทางการเงินของบริษัทจะด้อยกว่าประมาณการของทริสฯ โดยจะมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ประมาณ 65% ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่ปรับปรุงแล้วจะอยู่ที่ 9-10 เท่าในปี 2561

แนวโน้มอันดับเครดิต “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะการแข่งขันและระดับผลการดำเนินงานที่ดี และสามารถสร้างรายได้จากเงินที่ลงทุนไปโดยไม่ทำให้สถานะการเงินของบริษัทอ่อนแอลง อีกทั้งจะยังคงสถานะในการเป็นธุรกิจหลักของกลุ่มทรูต่อไป

ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับข้อพิพาทด้านกฎหมายต่าง ๆ ที่มีมาในอดีต เช่น ค่าธรรมเนียมเพื่อใช้โครงข่าย หรือการประเมินภาษีสรรพสามิต และอื่น ๆ ยังคงดำรงอยู่และจะยังไม่มีผลสิ้นสุดในเร็ววันนี้

ทริสฯสรุปข้อมูลบริษัท ทรู มูฟฯมีหุ้นกู้ที่รอไถ่ถอนในระหว่างปี 2564-2572 จำนวน 11 ชุด รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะในปี 2564 ถึงกำหนด 3 ชุด เป็นเงินจำนวน 28,591.70 ล้านบาท ทั้งนี้ไม่รวมหุ้นกู้ที่จะออกอีก 12,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 6 ปี