กรมบังคับคดีเซ็นเอ็มโอยู 34 บล. ออนไลน์ข้อมูลบุคคลล้มละลาย

HoonSmart.com>>กรมบังคับคดีเดินหน้าเชื่อมระบบรับ-ส่งข้อมูลบุคคลล้มละลายทางอิเล็กทรอนิกส์แบบเรียลไทม์ ล่าสุดเซ็นเอ็มโอยูกับบริษัทหลักทรัพย์ถึง 34 แห่ง นับเป็นความร่วมมือกับภาคเอกชนครั้งใหญ่อีกครั้ง นายกสมาคมบล.เผยคุยกันมานานเป็นปี ระบบพร้อมใช้ทำงานได้ทันที เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งในการทำ KYC

กรมบังคับคดีและบริษัทหลักทรัพย์จำนวน 34 แห่ง ร่วมลงนามบันทึกความตกลง(เอ็มโอยู)การรับ-ส่งข้อมูลบุคคลที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดีและนางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยเป็นผู้ลงนาม มีผู้แทนบริษัทหลักทรัพย์ จำนวน 34 แห่งและผู้บริหารของกรมฯเข้าร่วมในพิธีลงนาม เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2562 ที่อาคารกรมบังคับคดี

นางสาวรื่นวดีกล่าวว่า ความร่วมมือของกรมบังคับคดีและบริษัทหลักทรัพย์รวม 34 แห่ง ถือเป็นการสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรวบ
รวมทรัพย์สินของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ป้องกันความเสียหายจากการจำหน่าย จ่าย โอนทรัพย์สินของบุคคลล้มละลาย และช่วยลดขั้นตอนการปฎิบัติงาน เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ในการรับส่งข้อมูลระหว่างกรมบังคับคดีกับบริษัทหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ข้อมูลที่กรมบังคับคดีได้รับจะนำไปใช้เพื่อประโยชน์ในการปฎิบัติงานตามอำนาจหน้าที่เท่านั้น

อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวว่า การร่วมลงนามครั้งนี้ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกรมบังคับคดีและภาคเอกชนครั้งใหญ่อีกครั้ง เนื่องจากปัจจุบันการถือครองทรัพย์สินของบุคคลมีได้หลายรูปแบบ เช่น หุ้น กองทุนต่างๆ ซึ่งมีการเปลี่ยนการถือครองได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นการนำระบบการรับ-ส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรวบรวมทรัพย์สินในคดีล้มละลาย ช่วยลดขั้นตอน สร้างความเชื่อมั่นในการบังคับคดีมากขึ้น

” กรมบังคับคดีได้รับอนุญาตจากศาลล้มละลาย ในฐานะเจ้าพนักงานศาล ในการเชื่อมต่อข้อมูลแบบเรียลไทม์ ช่วยให้สถาบันการเงินรู้ข้อมูลเร็ว เป็นประโยชน์มาก ถ้าใครไม่รู้ปล่อยกู้ให้กับบุคคลล้มละลาย ก็เป็นโมฆะ สำหรับการเซ็นเอ็มโอยูครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 69 ซึ่งเมื่อปี 2561 ได้เซ็นร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) จำนวน 28 แห่ง รวมถึงส่วนราชการ และเอกชนหลายแห่ง มีการเชื่อมข้อมูลกับกรมการปกครองมาแล้ว ถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาลในการเชื่อมบิ๊กดาต้า ให้ส่วนราชการ ประสานและบูรณาการข้อมูลร่วมกัน ต่อไปจะขยายการเชื่อมข้อมูลออนไลน์ให้มากที่สุด แต่ขึ้นอยู่กับความพร้อมและเทคโนโลยีด้วย “นางสาวรื่นวดีกล่าว

ขณะเดียวกัน บริษัทหลักทรัพย์มีหน้าที่แจ้งข้อมูล ภายใน 30 วัน ถ้ามีสินทรัพย์ของลูกหนี้ล้มละลายอยู่ในครอบครอง กรมบังคับคดีทำหน้าที่ในการรวบรวมทรัพย์สินคืนเจ้าหนี้ทั้งหมด ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพได้ จะต้องเข้าถึงข้อมูลให้มากที่สุด

ทั้งนี้ การแจ้งข้อมูล กำหนดในกฎหมายล้มละลายฉบับที่ 10 มาตรา 24/1 บุคคลผู้เป็นหนี้ ลูกหนี้หรือมีทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ในครอบครอง มีหน้าที่ต้องแจ้งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ทราบภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

ทางด้านนางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย กล่าวว่า การเซ็นเอ็มโอยูครั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์คุยกับกรมบังคับคดีมานานเป็นปีแล้ว บริษัทหลักทรัพย์มีการลงทุน และความพร้อม เมื่อเชื่อมระบบข้อมูลก็สามารถใช้งานได้ทันที ซึ่งเกิดประโยชน์มาก นำไปเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งในกระบวนการในการรู้จักลูกค้า (KYC)ได้ด้วย