ความจริง ความคิด : เล่นพระ vs เล่นหุ้น (2)

โดย..สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP

สัปดาห์ที่แล้ว เราคุยกันถึงแนวคิดของการเล่นพระเทียบกับการเล่นหุ้นแล้ว จะเห็นว่าหลายๆแนวคิดใช้ด้วยกันได้เลย เอ๊ะ ถ้าอย่างนี้ ถ้าเราเล่นหุ้นเก่งๆ เราก็น่าจะเป็นเซียนพระได้เหมือนกันนะเนี่ย หรือ เซียนพระถ้าเข้ามาเล่นหุ้นดูบ้าง เผลอๆ อาจกลายเป็นเซียนหุ้นขึ้นมาได้เหมือนกันนะ งั้นวันนี้เรามาต่อแนวความคิดของการเล่นพระกันต่อดีกว่าครับ เผลอๆฝันที่อยากเป็นเซียนพระจะเป็นจริง

เล่นพระแนวของตนเอง พระที่หมุนเวียน นิยมในตลาด มีเป็นร้อย เป็นพัน หลวงพ่อ ทุกจังหวัดมีหลวงพ่อที่ดังๆหมด หลายจังหวัด มีหลายหลวงพ่อที่มีชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็นสายใต้ เช่น สายเขาอ้อ ฯลฯ หรือ สายอีสาน เช่น สายพระอาจารย์มั่น หรือสายครูบาศรีวิชัย ทางภาคเหนือ หรือ สายหลวงพ่อเงิน สายหลวงพ่อเดิม ทางภาคกลาง เป็นต้น และพระยังมีหลายประเภท เช่น เนื้อชิน เนื้อผง เนื้อดิน เหรียญ ฯลฯ ดังนั้น จึงไม่มีใครเก่ง ไม่มีใครแน่ทุกเรื่อง และไม่มีใครแน่ทุกเวลา

อย่างหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทย มีกว่า 800 ตัว แบ่งเป็น 8 กลุ่มอุตสาหกรรมใหญ่ ในแต่ละกลุ่มยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมย่อยอีก หุ้นบางตัวยังประกอบธุรกิจหลายธุรกิจในตัวเอง แต่ละธุรกิจก็จะมีปัจจัยเสี่ยงที่แตกต่างกัน ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ สังคม หรือ เทคโนโลยี แตกต่างกัน ราคาก็เปลี่ยนแปลงตามข้อมูลที่กระทบทุกวัน

ดังนั้นจึงไม่มีใครที่จะเชี่ยวชาญในหุ้นทุกตัว ขนาดนักวิเคราะห์มีความรู้ มีเครื่องมือในการวิเคราะห์ มีข้อมูลที่ครบถ้วน และที่สำคัญมีเวลาในการวิเคราะห์ ทั้งวัน และมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการวิเคราะห์โดยตรง ก็ยังต้องแบ่งเลยว่าใครเชี่ยวชายหมวดอุตสาหกรรมไหน ดังนั้น เราเองก็ควรเลือกแนวที่เราชอบ และศึกษาให้เชี่ยวชาญจะดีกว่า จะเป็น VI หรือ เซียนเทคนิค ก็เลือกเอา จำไว้ เราลงทุนเพื่อหวังกำไร ไม่ได้หวังเป็นพหูสูตร

อย่าเล่นพระคนเดียว เพราะพระมีหลากหลายหลวงพ่อ หลากหลายประเภท ดังกล่าวแล้ว เราจึงควร อย่าอายที่ไม่รู้ การไม่รู้ ก็แค่แปลว่า เราไม่รู้ ไม่ได้แปลว่า” โง่” แต่ถ้าไม่รู้ แล้วไม่รู้จักถามหรือหาความรู้ อย่างนี้เขาเรียกว่า “โง่” เราจึงควรเข้าหาสังคมเพื่อหาความรู้ หาข้อมูล แลกเปลี่ยนประสบการณ์เอาไว้ ยิ่งยุคนี้ สังคมอินเตอร์เนตมาแรง เราสามารถเข้าสังคมที่เราสนใจได้ง่าย ไม่เสียตังค์ เช่น social network ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พันทิป, facebook หรือ เว็บบล็อก ต่างๆ

การลงทุนก็เหมือนกัน การเข้าสังคมทำให้เราติดตามข้อมูลข่าวสารและหาความรู้ได้ง่ายขึ้น อย่างเช่น สมัครสมาชิก TSI ของตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือ จะกด Like หน้า facebook ที่เกี่ยวกับหุ้น ก็มีเยอะแยะ เช่น stock2morrow, fundmanagertalk, sinthorn เป็นต้น แต่อย่างไร ก็ควรใช้วิจารณญาณในการเลือกรับรู้และตัดสินใจบนข้อมูล ข่าวสาร ที่ได้รับ ครับ

ดูพระต้องยึดมั่นหลักความจริง เมื่อเราเช่าพระ เราก็ย่อมต้องการพระแท้ ปลุกเสกโดยหลวงพ่อที่เราศรัทธา แต่ปัญหาคือ หลวงพ่อที่เราศรัทธา ท่านมักมรณภาพไปก่อนแล้ว การพิสูจน์ว่าพระแท้หรือไม่จึงต้องพิจารณาจากตัวองค์พระ ต้องศึกษาจนรู้แจ้งว่า พระที่สนใจ สร้างปีไหน วัสดุอะไร สร้างด้วยวิธีอะไร ฯลฯ ตัวอย่างเช่น หากเราสนใจเหรียญหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม เราก็ต้องรู้ว่า เหรียญท่านสร้างปีไหน วัสดุที่สร้างมีอะไรบ้าง เป็นเหรียญปั๊ม หรือ เหรียญตัดขอบ มีกี่แม่พิมพ์ ตำหนิอยู่ที่ไหน ความเก่าของพระ ถึงยุคหรือไม่ เป็นต้น

ทุกสิ่งถ้าเราศึกษาให้เข้าใจจริงๆ จะสามารถอธิบายได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ ถ้าพบเหรียญไหนที่ดูแล้วขัดแย้งกับหลักวิทยาศาสตร์ ก็ควรตีไว้ก่อนว่า เก๊ อย่างเช่น เหรียญสร้างปี 2461 แต่ดูความเก่าของเนื้อเหรียญแล้ว เก่าไม่ถึงยุค ก็น่าจะเป็นพระเก๊หรืออย่าง บางทีเหรียญบล็อกคอมพิวเตอร์ ตำหนิต่างๆ เช่น เส้นขนแมว มักชัดเจน (จนบางครั้งชัดเกินไป) แต่ห่วงรอยเชื่อมมักจะไม่เก่าตามสภาพที่ควรเป็น เป็นต้น

ส่วนที่บางท่านพิสูจน์โดยการจับพลัง คือ การท่องคาถา หรือ การตั้งสมาธิ เพื่อทดสอบพุทธคุณในองค์พระ ซึ่งผมก็เคยเห็น แต่ไม่รู้ว่าเชื่อถือได้หรือไม่ เลยไม่ค่อยสนใจวิธีนี้ การลงทุนก็เหมือนกัน เราโชคดีที่ตลาดหลักทรัพย์ฯมีข้อบังคับให้บริษัทจดทะเบียนต้องเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และทันสมัย ทำให้เราสามารถวิเคราะห์พิจารณาได้สะดวก แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องใช้วิจารณญาณของเราเอง ก็คือ ประมาณการรายได้ ค่าใช้จ่าย กำไร หรือ การเติบโตของบริษัท ซึ่งเป็นข้อมูลในอนาคต เราจึงควรต้องพิจารณาบนหลักความจริง ต้องวิเคราะห์ว่าประมาณการทั้งหลายที่ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน หรือ นักวิเคราะห์ให้มานั้น มีโอกาสเป็นจริงกี่เปอร์เซนต์

ดูพระยังต้องใช้กล้อง ถ้าเราไปตามสนามพระ จะเห็นเซียนพระพกกล้องส่องพระเป็นอาวุธติดตัวเสมอ กล้องส่องพระเป็นแว่นขยายขนาดเล็กสำหรับใช้ส่องดูรายละเอียดขององค์พระ เช่น ดูมวลสาร ดูตำหนิ ฯลฯ การลงทุนก็เหมือนกัน เราต้องรู้จักใช้เครื่องมือในการลงทุน หากเราเปรียบเทียบงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนคือมวลสาร ประวัติการเคลื่อนไหวของราคา คือ สภาพตามอายุ เราก็ต้องรู้จักการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน และ ปัจจัยทางเทคนิค เหมือนการมีกล้อง ไว้เพื่อส่องดู และเพื่อประเมินมูลค่าของหุ้นให้ได้ถูกต้องว่า ควรจะซื้อหรือขายที่ราคาเท่าไหร่ จะได้ไม่ถูกหลอก

มือใหม่เริ่มจากอ่านหนังสือพระ ยังไม่ต้องรีบออกไปหาพระตามหนังสือ อ่านให้ครบ 1 ปีก่อนแล้วจะรู้ว่าพระที่เราเก็บๆ มานั้นถูกทางหรือเปล่า เหมือนการลงทุนครับ คำเตือนที่ผมใช้เตือนตัวเองเสมอก็คือ “การลงทุนมีความเสี่ยง การไม่ลงทุนเสี่ยงมากกว่า แต่การลงทุนโดยไม่มีความรู้เสี่ยงสูงสุด” ดังนั้นก่อนจะลงทุนด้วยเงินจริง ควรศึกษาหาความรู้ อาจเสียเงินค่าวิชา หรือเสียเวลาหาความรู้บ้าง แต่จากประสบการณ์บอกได้เลยครับ ว่าการลงทุนในความรู้คุ้มค่าเงินที่เสียไปครับ และปัจจุบันเราสามารถหาความรู้แบบไม่เสียตังค์ได้ง่าย ไม่ว่าจากเว็บ หรือ งานสัมมนาต่างๆ

มีกล้อง มีความรู้ พิจารณาบนหลักวิทยาศาสตร์ ก็น่าจะปลอดภัยได้ระดับหนึ่ง ก็ให้โชคดีทั้งเล่นหุ้นและเล่นพระ ไม่ถูก “ตกควาย” ครับ

**ขอให้โชคดีได้พระหลักล้านในราคาหลักร้อย**