ทริสคงเครดิต CKP ที่ A กระแสเงินสด-กำไรโต

HoonSmart.com>>CKP รักษาอันดับเครดิตที่ A ทริสเห็นผลงานพัฒนาและดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ในสปป.ลาว  น้ำงึม 2 -ไซยะบุรี สร้างกระแสเงินสดชัดเจน  กำไรโตระยะยาว

บริษัททริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ (CKP) ที่ระดับ ‘A’ และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ ‘A-‘ ด้วยเช่นกัน หุ้นกู้ดังกล่าวมีอันดับเครดิตต่ำกว่าองค์กรอยู่ 1 ขั้น เนื่องจากหุ้นกู้นี้มีลักษณะการด้อยสิทธิทางโครงสร้าง (Structural Subordination) เมื่อเทียบกับเงินกู้ที่มีในปัจจุบันของบริษัทย่อย

อันดับเครดิตสะท้อนถึงผลงานของบริษัทในการพัฒนาและดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ บริษัทใช้เทคโนโลยีที่ผ่านการพิสูจน์แล้ว ตลอดจนกระแสเงินสดรับที่คาดการณ์ได้จากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และเทคโนโลยีซึ่งผ่านการพิสูจน์แล้ว  แต่อันดับเครดิตดังกล่าวมีข้อจำกัดจากความไม่แน่นอนของปริมาณน้ำและความเสี่ยงระดับประเทศของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)

บริษัทเป็นผู้พัฒนาและลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังน้ำ พลังความร้อนร่วม และพลังแสงอาทิตย์  โรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำงึม 2 ในสปป.ลาว สร้างชื่อเสียงให้บริษัท  มีขนาดใหญ่ กำลังการผลิต 615 เมกะวัตต์ หนึ่งในปัจจัยที่สร้างความสำเร็จ นั้นมาจากความแข็งแกร่งของผู้ถือหุ้นหลัก คือ บริษัท ช. การช่าง (CK) (ได้รับอันดับเครดิต “A/Stable” จากทริสเรทติ้ง) ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่อันดับที่ 2 ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อพิจารณาจากรายได้และสินทรัพย์

บริษัทได้รับการยอมรับในเรื่องการบริหารจัดการโครงการ โดยสินทรัพย์หลัก คือโครงการน้ำงึม 2 และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมอีก 2 โครงการ สามารถเปิดดำเนินงานได้ตามกำหนดและเป็นไปตามงบประมาณที่ตั้งไว้ ในขณะที่โรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินงานแล้วทั้งหมดของบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. ถึงประมาณ 94% ของกำลังการผลิตรวม

ในปี 2561 บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย(อิบิทดา)อยู่ที่ 4,618 ล้านบาท โดยกำไร 3,206 ล้านบาท หรือประมาณ 70% มาจากโครงการน้ำงึม 2 ส่วนที่เหลือมาจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมและโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ทั้งนี้ในปี 2560 มีอิบิทดาจำนวน 3,587 ล้านบาท

ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดใน สปป. ลาว เมื่อเริ่มเปิดดำเนินงาน กำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนของบริษัทฯคิดเป็นประมาณ 80% ของกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ทั้งหมดของบริษัท ซึ่งอยู่ที่ 913.8 เมกะวัตต์ ซึ่งหน่วยผลิตไฟฟ้าที่ 1 จะสามารถเดินเครื่องได้ภายในเดือนเม.ย.นี้ ก่อนแผนการดำเนินงานเชิงพาณิชย์ในเดือนต.ค. 2562 ถึง 6 เดือน

“บริษัทมีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ดีกับกฟผ. และช่วยบรรเทาความเสี่ยงหลัก ๆ ได้ เช่น สัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโครงการน้ำงึม 2 มีกลไกที่เอื้อให้บริษัทสามารถจำหน่ายไฟฟ้าได้มากเกินกว่าปริมาณเป้าหมายในปีที่มีน้ำมาก ในขณะที่ปีที่มีน้ำน้อยบริษัทก็จะได้รับเงินสดจากการนำไฟฟ้าที่ผลิตเกินกว่าเป้าหมายดังกล่าวมาใช้ หากจำหน่ายไฟฟ้าได้ต่ำกว่าปริมาณไฟฟ้าเป้าหมายต่อปี  ในส่วนที่ขาดก็สามารถนำไปทบกับปริมาณไฟฟ้าเป้าหมายของปีถัด ๆ ไปได้ ซึ่งกลไกนี้ช่วยให้กระแสเงินสดของโครงการมีเสถียรภาพและบริษัทยังมีการนำกลไกดังกล่าวไปใช้ในโครงการไซยะบุรีอีกด้วย”บริษัททริสฯระบุ

สำหรับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม สัญญาซื้อขายไฟฟ้ามีเงื่อนไขยอมให้บริษัทส่งผ่านต้นทุนเชื้อเพลิงไปยัง กฟผ. ได้ตราบเท่าที่ประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าเป็นไปตามสัญญา ดังนั้น ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง จึงเป็นสิ่งที่บริหารจัดการได้ ซึ่งโรงไฟฟ้าของบริษัทยังคงทำได้ดีกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้

ทริสฯคาดการณ์ว่า โครงการไซยะบุรีจะสร้างรายได้ประมาณ 15,000 ล้านบาทและจะมีอิบิทดาประมาณ 13,000 ล้านบาทต่อปี จากสัดส่วนการลงทุนที่ 37.5% คาดว่าบริษัทจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรประมาณ 1,000-1,500 ล้านบาทต่อปี หลังจากโครงการเริ่มดำเนินงานเต็มปี ส่วนแนวโน้มในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ไม่คาดหวังว่าบริษัทจะขยายสินทรัพย์เพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ เพราะการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำในแต่ละโครงการจะกินเวลาหลายปีเช่นเดียวกัน สถานะทางการเงินก็ไม่เปลี่ยนแปลงไป ประมาณการว่าในปี 2562-2564 บริษัทมีอิบิทดา 4,500-4,600 ล้านบาทต่อปี อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนน่าจะคงอยู่ที่ประมาณ 45% ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินน่าจะอยู่ที่ประมาณ 13%

ผลการดำเนินและสถานะทางการเงินเป็นที่น่าพอใจ บริษัทมีอัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้อยู่ในระดับค่อนข้างสูงที่ประมาณ 50-60% เมื่อเทียบกับบริษัทอื่น ๆ เนื่องจากบริษัทเน้นโรงไฟฟ้าพลังน้ำจะมีอัตรากำไรจากการดำเนินงานประมาณ 75-80% ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม จะมีอัตรากำไรประมาณ 20-25% ซึ่งใกล้เคียงกับบริษัทคู่แข่ง

อย่างไรก็ตาม โครงการน้ำงึม 2 และโครงการไซยะบุรี มีความเสี่ยงจากปริมาณน้ำ  หากลดลงอย่างรุนแรงและยาวนาน อาจส่งผลทำให้กระแสเงินสดและกำไรอ่อนแอลงเป็นอย่างมากได้ รวมถึงความเสี่ยงระดับประเทศของ สปป. ลาว แต่สามารถบรรเทาลงได้ ด้วยสัญญาสัมปทานที่มีกับรัฐบาล สปป. ลาว และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่มีกับ EDL