BAY กำไร 1.2 หมื่นล. โต 108% บุ๊คกำไรขายหุ้นเงินติดล้อ

HoonSmart.com>>แบงก์กรุงศรี อวดกำไรไตรมาส 1/62 แตะ 1.2 หมื่นล้านบาท เติบโต 108% จากงวดปีก่อน บันทึกกำไรขายหุ้นเงินติดล้อ หากไม่มีรายการดังกล่าวแบงก์ยังโชว์กำไรรายไตรมาสสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.2562 มีกำไรสุทธิ 12,736.75 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 1.73 บาท เพิ่มขึ้น 108% จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 6,214.57 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.84 บาท

ธนาคารมีกําไรสุทธิที่แข็งแกร่งในไตรมาส 1/2562 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสําคัญที่ 108.5% จากไตรมาส 4/2561 และ 104.9% จากไตรมาส 1/2561 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการบันทึกกําไรจากการขายหุ้นจํานวน 50% ของบริษัท เงินติดล้อ จํากัด ที่ดําเนินการแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562

หากไม่รวมกําไรพิเศษจากขายหุ้นของบริษัท เงินติดล้อ จํากัด และค่าใช้จ่ายเพื่อรองรับประมาณการหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจากการชดเชยกรณีพนักงานเกษียณและเลิกจ้างตามการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน กําไรสุทธิในไตรมาส 1/2562 อยู่ที่ 6,929 ล้านบาท ซึ่งเป็นกําไรสุทธิรายไตรมาส สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งที่ 13.4% จากไตรมาส 4/2561 และ 11.5% จากไตรมาส 1/2561 แม้ว่าจะเผชิญปัจจัยด้านฤดูกาลในการชําระคืนเงินให้สินเชื่อในไตรมาสแรกของทุกปี

นอกจากนี้เงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 1,709,668 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจํานวน 37,650 ล้านบาท หรือ 2.3% จากสิ้นเดือนธ.ค.61 โดยการขยายตัวของสินเชื่อในไตรมาส 1/2562 มาจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่ สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ในขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลปรับลดลงจากการชําระคืนเงินให้
สินเชื่อตามปัจจัยด้านฤดูกาล

ขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 1.99% ณ เดือน มี.ค.2562

สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จำนวน 8,585 ล้านบาท หรือ 98.1% จากไตรมาสก่อนหน้า มาจากการบันทึกำไรจากการขายหุ้นเงินติดล้อ

ธนาคารมีเงินสำรอง จำนวน 63,883 ล้านบาท โดยมีสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 20,172 ล้านบาท ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญตามเกณฑ์สำรอง ธปท. ที่ 146.1% อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 165.7% จากสิ้นปี 2561 ที่อยู่ 160.8%

สำหรับไตรมาสที่เหลือของปี หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน มี.ค.2562 แรงส่งอุปสงค์ในประเทศยังเป็นปัจจัยเกื้อหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อุปสงค์ต่างประเทศชะลอลง โดยธนาคารปรับลดประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้อยู่ที่ 3.8% จากเดิม 4.1% โดยธนาคารยังคงเป้าหมายสินเชื่อรวมปีนี้ขยายตัว 6-8%