ศาลฏีกา ยกฟ้อง สหกรณ์ ฯ คลองจั่น-จำเลย 6 ราย

HoonSsmart.com>>ศาลฏีกา ยืนตาม “ศาลชั้นต้น-ศาลอุธรณ์” ยกฟ้อง สหกรณ์ ฯ คลองจั่น และจำเลย 6 ราย กรณี สหกรณ์ออมทรัพย์ (สอ.)  รพ.ราชวิถี ยื่นฟ้อง กรณีฉ้อฉล ละเมิด โดยศาลฏีกา เห็นว่า การทำบันทึกข้อตกลง เป็นประโยชน์ต่อสหกรณ์ฯ คลองจั่นและเจ้าหนี้ทั้งหลาย รวมถึงสอ.โรงพยาบาลราชวิถีด้วย ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่า ทำให้โจทก์เสียหายหรือเสียเปรียบ

ขอประชาสัมพันธ์ คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีหมายเลข 8805/2561 กรณีสหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลราชวิถี ฟ้องคดีต่อสหกรณ์ฯคลองจั่น, ประธานกรรมการชุดที่ 30 และเหรัญญิกของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จํากัด…

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน 2562 ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษา “ยกฟ้อง” ในคดีหมายเลข 8805/2561 ที่สหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลราชวิถี ยื่นฟ้องคดีแพ่งเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2558 ต่อจำเลย 6 ราย โดยมีสหกรณ์ฯคลองจั่น เป็นจำเลยที่ 4, ประธานกรรมการชุดที่ 30 นายเผด็จ มุ่งธัญญา เป็นจำเลยที่ 5 และเหรัญญิกสหกรณ์ฯ คลองจั่น นางอรุณี บุตรสุนทร เป็นจำเลยที่ 6

กรณีฉ้อฉล ละเมิด โดยร่วมกันไปยื่นคำร้องขอถอนฟ้องในคดีหมายเลข พ.736/2557 ที่สหกรณ์ฯ คลองจั่น ฟ้องคดีต่อพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (พระธัมมชโย) และวัดพระธรรมกาย และร่วมกันจัดทำบันทึกข้อตกลงรับเงิน 684.78 ล้านบาท เป็นการลดหนี้และปลดหนี้ อันเป็นการกระทำที่ฉ้อฉลต่อโจทก์ (สอ.โรงพยาบาลราชวิถี) ขอให้ศาลพิจารณามีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนนิติกรรมการฉ้อฉลระหว่างจำเลยทั้ง 6 ราย ที่ทำบันทึกข้อตกลงและคำร้องขอถอนฟ้องคดีหมายเลข พ.736/2557 ของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่พิพากษายกฟ้อง

เนื่องจากศาลแพ่งวินิจฉัยว่า เมื่อศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของสหกรณ์ฯคลองจั่น ก่อนโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ การฟ้องสหกรณ์ฯ คลองจั่น จึงเป็นคำขอเกี่ยวกับทรัพย์สินของสหกรณ์ฯ คลองจั่น ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ 2483 มาตรา 90/12 (4) สอ.โรงพยาบาลราชวิถีไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2560

..คำวินิจฉัยและคำพิพากษาศาลฎีกา..

โจทก์ฎีกาว่า การทำบันทึกข้อตกลงที่สหกรณ์ฯคลองจั่น ทำกับกองทุนเฉพาะกิจลูกศิษย์วัดพระธรรมกาย เพื่อช่วยเหลือวัดพระธรรมกาย พระราชภาวนาวิสุทธิ์ หรือพระเทพญาณมหามุนี (พระธัมมชโย) และสมาชิกสหกรณ์ฯคลองจั่น เป็นนิติกรรมที่ทำขึ้นแล้วทำให้โจทก์ (สอ.โรงพยาบาลราชวิถี) เสียหายและเสียเปรียบ

ศาลฎีกาวินิจฉัย ว่า ตามข้อเท็จจริง นับแต่วันที่ทำบันทึกข้อตกลงกับกองทุนเฉพาะกิจดังกล่าว สหกรณ์ฯคลองจั่น ที่อยู่ในสภาวะขาดเงินทุนหมุนเวียน และขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง ได้รับเงิน 100 ล้านบาท ในวันที่ 16 มีนาคม 2558 และเงินส่วนที่เหลือจนครบ 684.78 ล้านบาท ภายในระยะเวลาไม่ถึง 6 เดือน ทำให้สถานะทางการเงินสหกรณ์ฯคลองจั่นดีขึ้น แสดงให้เห็นว่า การทำบันทึกข้อตกลง เป็นประโยชน์ต่อสหกรณ์ฯ คลองจั่นและเจ้าหนี้ทั้งหลาย รวมถึงสอ.โรงพยาบาลราชวิถีด้วย จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่า ทำให้โจทก์เสียหายหรือเสียเปรียบ ที่ศาลล่างทั้งสอง (ศาลชั้นต้น-ศาลอุทธรณ์) พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน “ยกฟ้อง”