กำไรกสิกรฯ แซงหน้าไทยพาณิชย์ – SCB รอกลยุทธ์กินดอกเบี้ยคำโตสำเร็จ

HoonSmart.com>>แบงก์ไทยพาณิชย์ (SCB) แชมป์กำไรสูงสุดในระบบธนาคารพาณิชย์หลายสมัย แต่ในไตรมาส 1/2562 ทำได้ไม่ถึง 1 หมื่นล้านบาท เป็นรองธนาคารกสิกรไทย (KBANK)ที่มีกำไร 10,044 ล้านบาท

ทั้งนี้ไม่รวมธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY)ที่มีกำไรมากถึง1.27 หมื่นล้านบาท จากกำไรพิเศษขายหุ้นบริษัทเงินติดล้อจำนวน 6,700 ล้านบาท

กำไรที่ลดลงนอกจากมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันประสิทธิภาพในการดำเนินงานก็ด้อยลง ธนาคารไทยพาณิชย์มีอัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE)และอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA)เหลือเพียง 9.5% และ 1.10% ตามลำดับ ลดลงเร็วอย่างต่อเนื่องจากที่เคยสูงเกือบ 15%และ 2% เศษที่ผ่านมา ส่วนธนาคารกสิกรไทย ROE และ ROA ก็ลดลงเช่นกัน แต่น้อยกว่า คงเหลือ 10.46% และ1.27%

ที่ผ่านมา ธนาคารไทยพาณิชย์มีกำไรสุทธิสูงกว่าแบงก์อื่น ส่วนหนึ่งเกิดจากการมีทุนเรียกชำระ 33,991.92 ล้านบาท มากกว่าธนาคารกสิกรไทยที่มีจำนวน 23,932.60 ล้านบาทและธนาคารกรุงเทพมีจำนวน 19,088.43 ล้านบาท รวมถึงการขยายสินเชื่อขนาดใหญ่และมีค่าธรรมเนียมสูง แต่เมื่อมีการทุ่มลงทุนในโครงการ Transformation ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาก แต่ผลตอบแทนและการใช้ประโยชน์ยังกลับมาไม่มากอย่างที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนคาดหวัง เกิดสถานการณ์ขาดความเชื่อมั่น จากที่ยอมจ่ายค่าหุ้นในราคาใกล้เคียงกับธนาคารกสิกรไทย ก็ขายออกจนราคาปรับตัวลงมาแถว 129 บาท อย่างไรก็ตาม ราคาซื้อขายที่พี/อีต่ำ และให้อัตราผลตอบแทนเงินปันผลสูงกว่า 4% ดูเหมือนว่าหุ้น SCB เริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้น

แต่ SCB จะไปต่อได้ไกล จะต้องแสดงผลกำไรที่ดีกลับคืนมาให้ได้เร็วที่สุด

สาเหตุที่ทำให้กำไรลดลงมาก ในไตรมาส 1/2562 ธนาคารให้เหตุผลว่าเกิดจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน 9,209 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.6% ทำให้ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเติบโต 9.9% เป็น 17,835 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายครั้งเดียวในการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานจากกฎหมายแรงงานใหม่ จำนวน 1,400 ล้านบาท รวมถึงการปรับเพิ่มเงินเดือนประจำปี ค่าเสื่อมราคาสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนในโครงการ Transformation

ทั้งนี้หากไม่รวมค่าใช้จ่ายครั้งเดียว ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.3 % สะท้อนว่าธนาคารสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้นและเริ่มฟื้นตัวจากการลงทุนในโครงการ Transformation

ธนาคารยืนยันว่าได้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องจาก โครงการ Transformation เห็นได้จากการย้ายธุรกรรมทางการเงินไปยังช่องทางดิจิทัล อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จะปรับตัวดีขึ้นจากเครือข่ายสาขาและการจัดสรรพนักงานไปอยู่ในส่วนที่สร้างรายได้

“อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธุรกิจหลักยังคงขยายตัวได้ดีและมีศักยภาพในการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง สะท้อนจากผลลัพธ์ของโครงการ Transformation ที่ได้ปรากฎเด่นชัดขึ้นตามลำดับ จำนวนลูกค้าที่ใช้บริการบนดิจิทัลแพลตฟอร์มของเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ธนาคารมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิผลจากการลงทุนในโครงการ Transformation ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่และการปรับลดค่าใช้จ่ายลงในอนาคต

ในช่วงต้นปี 2562ที่ผ่านมา ธนาคารได้ริเริ่มนำวัฒนธรรมองค์กรแบบ Agile มาประยุกต์ใช้เพื่อให้ธนาคารมีความสามารถในการตอบสนองผู้บริโภคในเรื่องของการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) ความรวดเร็ว (Speed) นวัตกรรม (Innovation) และวัฒนธรรมความเสี่ยง (Risk Culture) เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการเป็น ‘ธนาคารที่น่าชื่นชมที่สุด’

ขณะเดียวกัน ธนาคารได้ใช้กลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการเติบโตของสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง เช่น สินเชื่อบุคคลขยายตัว 7.7% จากปีก่อน และ 2.0%จากไตรมาสก่อน สินเชื่อเช่าซื้อขยายตัว 13.9% จากปีก่อน และ 5.0% จากไตรมาสก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลจากยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้น และการเติบโตของสินเชื่อรถแลกเงิน (My Car, My Cash) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สินเชื่อบุคคลที่ใช้รถยนต์ของผู้กู้เป็นหลักประกัน สำหรับสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ลดลง 0.8% จากปีก่อน และ 4% จากไตรมาสก่อน ส่วนใหญ่มาชำระคืน

นอกจากนี้ธนาคารยังมีกลยุทธ์มุ่งเน้นการเพิ่มบัญชีเงินฝากที่มีต้นทุนต่ำ ผ่านการขยายฐานลูกค้า การเป็นธนาคารหลักของลูกค้าและ payment ecosystem ส่งผลให้สัดส่วนเงินฝากกระแสรายวันและเงินฝากออมทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 70.2% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562
ร้อยละ 70.2 ณ สิ้นเดือนมีนาคม ส่วนเงินฝากประจำลดลงจาการครบอายุ ทำให้เงินฝากโดยรวมลดลง 1.9%จากสิ้นปีก่อน

“ธนาคารมีอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ 3.20 % เทียบกับ 3.18% รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 5.9% เป็นจำนวน 24,713 ล้านบาท ผลจากการขยายสินเชื่อ 3% และอัตราผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นตามกลุยทธ์ในการเติบโตสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง ขณะที่ขยายฐานเงินฝากที่มีต้นทุนต่ำลง รวมถึงการมีวินัยในการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อเคหะ อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 9.9% จากการเติบโตของเงินฝากและการออกหุ้นกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐในไตรมาส 1/2562 โดยมียอดจองซื้อจากนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ ที่สูง และถือว่าเป็นหนึ่งในหุ้นกู้ที่มีมูลค่าการจองสูงที่สุดของสถาบันการเงินไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา”

ส่วนคุณภาพของสินเชื่อดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL)ลดลง และจากการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มเติ่มไว้ในไตรมาสก่อน จึงได้ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญรวม 5,420 ล้านบาทในไตรมาสนี้ หรือ 1.02% ของสินเชื่อรวม ต่ำกว่าเป้าหมายปี 2562 ของธนาคารที่ 1.15-1.35% จากการที่สินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูงอยู่ในช่วงเริ่มต้นขยายตัว จากการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นประกอบกับสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ลดลง ส่งผลให้อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ เพิ่มขึ้นเป็น 152.8% จาก 146.7%  ทั้งนี้สินเชื่อด้อยคุณภาพเกิดใหม่ในกลุ่มธุรกิจหลักดีขึ้น ยกเว้นกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ยังเผชิญกับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ

ทางด้านธนาคารกสิกรไทย “ปรีดี ดาวฉาย”กรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่า ธนาคารมีกำไรสุทธิ 10,044 ล้านบาท ไตรมาส 1/2562 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 1,556 ล้านบาท หรือ 6.57% ส่วนใหญ่เกิดจากเงินให้สินเชื่อ และเงินลงทุน ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) อยู่ที่ระดับ 3.32% ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 2,871 ล้านบาท หรือ 19.00% นอกจากนี้ มีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลดลง จำนวน 928 ล้านบาท หรือ 10.91%