BGRIM คาดใช้งบ 3.85 หมื่นลบ. ผุด SPP 7 โรง 800 MW จ่ายไฟปี 65

HoonSmart.com>>บี.กริม เพาเวอร์ เดินหน้าลงทุนโรงไฟฟ้า SPP   7 โครงการ รวม 800 เมกะวัตต์ เสร็จปี 2565 เพิ่ม COD รวม 3,245 เมกะวัตต์ บุกต่างประเทศ คาดโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเกาหลีใต้ 36 เมกะวัตต์จะสรุปเร็วๆนี้  โซลาร์รูฟท็อปในไทย มีโอกาสสูง 200 เมกะวัตต์ จับลูกค้าเซ็น 70 เมกะวัตต์ คาดสิ้นปีจ่ายไฟได้ 20-25 เมกะวัตต์ ยืนยันสายสัมพันธ์ที่ดีกลุ่มซีพี  ปีนี้กดต้นทุนเงินลงจาก 4.6% เหลือ 4.2-4.4% และปิดซ่อมบำรุงน้อยวัน

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) เปิดเผยภายหลังการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นวันที่ 25 เม.ย.ว่า บริษัทเตรียมงบลงทุนประมาณ 3.85 หมื่นล้านบาท สำหรับการพัฒนาโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ประเภทพลังความร้อนร่วม จำนวน 7 โครงการ กำลังผลิตรวม 800 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2565  คาดว่าจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ครบ 3,245 เมกะวัตต์ภายในปี 2568 จากปัจจุบัน COD จำนวน 2,200 เมกะวัตต์  เป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ สัดส่วน 70%และ 30% เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังน้ำและลม

สำหรับโรงไฟฟ้าใหม่คาดว่าจะมีกำลังการผลิตประมาณ 140 เมกะวัตต์/โครงการ มูลค่าลงทุนโครงการละ 5,500-6,000 ล้านบาท มาจากเงินกู้โครงการ 70% และเงินส่วนทุนอีก 30%

” SPP เป็นโมเดล WIN WIN  อัตราผลตอบแทนไม่น้อยกว่า 12% ส่วนเรื่องความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมีการบริหารแบบตามธรรมชาติ “นางปรียนาถกล่าว

แนวโน้มการดำเนินงานยังมีโอกาสเติบโตสูง เนื่องจากโรงไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทมีเสถียรภาพ และตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้นคร และอมตะซิตี้ระยอง รวมถึงในพื้นที่มาบตาพุด ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมที่สำคัญ ยังมีโอกาสขายไฟฟ้าและไอน้ำให้กับโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้เพิ่มขึ้น ทำให้มีลูกค้ารายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้บริษัทยังมองหาโอกาสการลงทุนโครงการใหม่ ๆ โดยเฉพาะในต่างประเทศ อาทิ โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในมาเลเซีย เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ ส่วนพลังงานลม การลงทุนโรงไฟฟ้าในเกาหลีใต้ ขนาด 36 เมกะวัตต์จะสรุปได้เร็วๆนี้

ขณะเดียวกันโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ในไทย ก็มีโอกาสสูงถึง 200 เมกะวัตต์ ขณะนี้เซ็นสัญญากับลูกค้าแล้ว 70 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้า 6.5 เมกะวัตต์ คาดว่าจนถึงสิ้นปีนี้จะจ่ายไฟฟ้าได้ราว 20-25 เมกะวัตต์ กลุ่มลูกค้าสำคัญเป็น ห้างสรรพสินค้า โกดัง อาคารพาณิชย์ โรงงาน เป็นต้น

นางปรียนาถกล่าวถึงการพัฒนาโครงการระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น พื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ที่บริษัทเซ็นสัญญาและได้รับสิทธิดำเนินการจากกองทัพเรือว่า ปัจจุบันยังไม่มีการเซ็นสัญญา PPA นอกจากนี้บริษัทก็มีความหวังว่าจะได้เข้าพัฒนาเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็นภายในสนามบินด้วย หากกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)นะประมูลล จากข้อเสนอโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก  โดยยืนยันว่าบริษัทมีความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มซีพีมาเนิ่นนาน เพราะซีพีเข้ามาลงทุนในบริษัทตั้งแต่แรกเริ่ม และถอนการลงทุนออกไปก่อนที่บริษัทจะขายไฟ

สำหรับการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นวันที่ 25 เม.ย. 2562 ที่ประชุมอนุมัติทุกวาระ โดยนางปรียนาถกล่าวว่า ในปี 2562 ต้นทุนทางการเงินของบริษัทจะลดลง จากระดับ 4.6% ในสิ้นปีก่อน เหลือ 4.2-4.4% จากการออกหุ้นกู้ไปชำระคืนหนี้สถาบันการเงิน และร่วมมือกับซีเมนส์ในการลดระยะเวลาการหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าเหลือ 14 วันจากเดิมที่ใช้เวลา 22-24 วัน และจะลดเหลือเพียงตัวเลขหลักเดียวในอนาคต ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงลงด้วย