IRPC กำไร 153 ล้าน สเปรดลด-ปิดซ่อมรง. มุ่ง GDP เพิ่มมูลค่าปีนี้ 1.5 พันลบ.

HoonSmart.com>>IRPC เผยไตรมาส 1/2562 กำไรสุทธิ 153 ล้านบาท ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์-วัตถุดิบลดลง ปิดซ่อมโรงงาน RDCC กดอัตราการกลั่นกำไรสต๊อกน้ำมันสุทธิเพิ่มขึ้น เดินหน้าบูรณาการระบบดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในทุกขั้นตอนธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ตั้งเป้าช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มปีนี้ไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท  คาดราคาน้ำมันดิบดูไบไตรมาส 2 ขึ้นต่อ แกว่งในกรอบ 67–73 เหรียญสหรัฐฯ

บริษัท ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดเผยผลประกอบการงวดไตรมาส 1/2562 ว่า มีกำไรสุทธิ 152.91 ล้านบาท ลดลง 94% จากที่มีกำไรสุทธิ 2,751.92 ล้านบาทในไตรมาส1/2561 แต่เพิ่มขึ้น 109% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2561 ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 1,627 ล้านบาท

นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดเผยว่า ไตรมาส1/2562 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายสุทธิ 54,274 ล้านบาท ลดลง 16% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2561 เนื่องจากราคาขายลดลง 11% ตามราคาน้ำมันดิบ และปริมาณขายลดลง 5% จากการที่โรงงาน RDCC ปิดซ่อมบำรุงเป็นเวลา 28 วัน เพื่อติดตั้งตัวเร่งปฏิกิริยาในกระบวนการทำงานของอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน (โครงการ Catalyst Cooler) เพิ่มประสิทธิภาพให้โรงกลั่นให้สามารถเลือกกลั่นน้ำมันดิบได้หลากหลายประเภท

บริษัทมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) อยู่ที่ 4,958 ล้านบาท หรือ 8.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลง 44% สาเหตุหลักเกิดจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบลดลง แต่บริษัทฯ มีกำไรจากสต๊อกน้ำมันสุทธิ  720 ล้านบาท  มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) 2,355 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,821 ล้านบาท ต้นทุนทางการเงินสุทธิ 387 ล้านบาท ลดลง 431 ล้านบาท เนื่องจากการบันทึกกำไรจากการทำสัญญาแลกเปลี่ยนเงินต้นและดอกเบี้ย (Cross Currency Swap หรือ CCS) จำนวน 83 ล้านบาท และมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 127 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 141 ล้านบาท จากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ขณะที่กำไรจากการด้อยค่าและจำหน่ายทรัพย์สินลดลง 258 ล้านบาท เนื่องจากไตรมาสที่แล้วมีรายการที่ไม่เกิดขึ้นประจำจากการขายที่ดิน

ส่วนไตรมาส 1/2562 เทียบกับไตรมาส 1/2561 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายลดลง 6,214 ล้านบาท หรือ 10% เป็นผลจากทั้งราคาขายและปริมาณขายปรับตัวลดลง 6% และ 4% ตามลำดับ ผลการดำเนินงานปรับตัวลดลงอย่างมาก เป็นผลจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบปรับตัวลดลง และอัตราการกลั่นน้ำมันลดลง 6% จากโรงงาน RDCC หยุดผลิต บริษัทฯ มี Market GIM ลดลง 3,611 ล้านบาท หรือ 42% Accounting GIM ลดลง 3,095 ล้านบาท หรือ 35% แม้กำไรจากสต๊อกน้ำมันสุทธิเพิ่มขึ้น 516 ล้านบาท ก็ตาม โดยมี EBITDA ลดลง 3,034 ล้านบาท ต้นทุนทางการเงินลดลง 85 ล้านบาท และมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น 30 ล้านบาท ขณะที่กำไรจากการลงทุนลดลง 87 ล้านบาท ส่วนใหญ่จากผลการดำเนินงานของบริษัทร่วมปรับตัวลดลง

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีสภาพคล่องอยู่ในระดับที่ดี อัตราส่วนสภาพคล่องอยู่ที่ 0.96 เท่า และอัตราหนี้สินสุทธิต่อทุน (net D/E)อยู่ที่ระดับ 0.66 เท่า โดยมีนโยบายควบคุมสัดส่วนหนี้สุทธิต่อทุนไม่เกิน 1 เท่า และมีการติดตามการบริหารความเสี่ยงทั้งในด้านการปฏิบัติการและด้านการเงินอย่างใกล้ชิด

สำหรับโครงการ Catalyst Cooler ได้เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถเลือกใช้น้ำมันดิบได้หลากหลายชนิดมากขึ้นและผลิตไฟฟ้าและไอน้ำได้เพิ่มขึ้น คาดว่าจะสามารถเพิ่มกำไรขั้นต้นจากการผลิต (GIM) ประมาณ 0.3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หรือ ประมาณ 600 ล้านบาท ทำให้ผลดำเนินงานดีขึ้นตามแผนงานที่วางไว้

บริษัทยังได้รับปัจจัยบวกที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในอุตสาหกรรมเรือเดินสมุทรปี 2563 คือ “IMO” มีมติให้จำกัดกำมะถันในน้ำมันเชื้อเพลิงเติมเรือ (น้ำมันเตา) ให้ไม่เกิน 0.5% จากระดับ 3.5% ในปัจจุบัน จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป โดย IRPC ได้เตรียมความพร้อมผลิตน้ำมันเตาที่มีส่วนผสมของกำมะถันระดับ 0.5%

“บริษัทฯ ยังคงดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ GDP (Power of Growth, Power of Digital และ Power of People) โดยเฉพาะ ในปีนี้บริษัทฯ มุ่งเน้นการดำเนินการด้าน Power of Digital หรือ IRPC 4.0 บูรณาการระบบดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในขั้นตอนธุรกิจควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานทั่วองค์กร ได้แก่ 1. ระบบการควบคุมและวางแผนการผลิตด้วยปัญญาประดิษฐ์ ที่วัดผลได้แบบ real-time 2. ระบบการบริหารจัดการ Supply Chain 3. ระบบ Big Data วิเคราะห์ความต้องการของตลาด 4. ระบบ Lean Procurement เพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผนจัดซื้อจัดจ้าง และ 5. การจัดการข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐานด้าน IT ขององค์กร ซึ่งทั้งหมดนี้ คาดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งปีให้กับองค์กรได้ไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท หรือประมาณ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ และโครงการ IRPC 4.0 จะช่วยยกระดับบริษัทฯ พร้อมแข่งขันในเวทีสากล โดยใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีมาเป็นตัวขับเคลื่อน ส่งเสริมการทำงานแบบดิจิทัลในยุคไทยแลนด์ 4.0 อย่างยั่งยืน

ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 1/2562 ความต้องการใช้ของโลกอยู่ที่ประมาณ 101 ล้านบาร์เรลต่อวัน ราคาน้ำมันดิบดูไบเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 51.85 – 68.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 63.53 เหรียญสหรัฐฯ ลดลง 3.89 เหรียญสหรัฐฯ จากไตรมาส 4/2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 67.42 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนแนวโน้มไตรมาส 2 คาดราคายังคงปรับตัวสูงขึ้น เคลื่อนไหวในกรอบ 67–73 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล