ธปท.คาดสินเชื่อแบงก์ปีนี้โต5-6%

แบงก์ชาติกางพอร์ตธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ ไตรมาส 1 สินเชื่อโต 4%เศษ รายใหญ่หดตัว 2.6% ระดมเงินจากตราสารหนี้และหุ้นคืนหนี้ ส่วนอสังหาริมทรัพย์-อาหารยังต้องการเงินกู้ แอลพีแอลทรงตัว เว้น เอสเอ็มอี-ที่อยู่อาศัยยังโต

นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คาดสินเชื่อของระบบธนาคารพณิชย์ทั้งปีนี้ขยายตัว 5-6% ตามทิศทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนไตรมาส1/2561
เติบโต 4.4% จากสิ้นปีที่ผ่านมา และขยายตัว 4.7%จากระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ส่วนกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นกำไรจากการขายเงินลงทุนและรายได้ค่านายหน้าจากการขายหลักทรัพย์

“ไตรมาส1 สินเชื่อของระบบแบงก์ขยายตัวต่อเนื่องจากสิ้นปี สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจ คุณภาพสินเชื่อทรงตัวกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น แต่กำไรสุทธิลดลงจากค่าใช้จ่ายการดำเนินงานและการกันกันสำรอง” ธปท.ระบุ

ภาพรวมระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีเสถียรภาพ มีเงินสำรอง เงินกองทุน และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูงสามารถรองรับการขยายตัวของสินเชื่อในระยะต่อไปได้ แต่สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่หดตัว 2.6% บางส่วนมีการชำระคืนหนี้ พ่ึงพาทางเลือกในการระดมทุนผ่านตราสารหนี้และหุ้น แม้ว่าบางธุรกิจยังมีการใช้สินเชื่อเพิ่มขึ้น อาทิ ธุรกิจอาหาร สำหรับสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวขึ้นจากทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และ SME เช่นเดียวกับการระดมทุนผ่านตราสารหนี้และหุ้น

ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคเติบโต 7.1% ขยายตัวในทุกพอร์ต โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ที่ขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่อง ขึ้นมาอยู่ที่ 10.6% สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์
และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่เติบโตต่อเนื่องหลังสิ้นสุดระยะเวลาการถือครองรถยนต์คันแรก 5 ปี ประกอบกับการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่จำนวนมาก สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวได้ที่ 5.8% 5.3% และ 6.9% ตามลำดับ

ทางด้านคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.92% ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนที่ 2.91% โดยมียอดคงค้างที่ 443,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงจากสิ้นปี 2560 โดยเอ็นพีแอลของสินเชื่อธุรกิจ SME และสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังเพิ่มขึ้น สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ ลดลงมาอยู่ที่ 2.32% จากสิ้นปีที่ 2.55% โดยมียอดคงค้างทั้งสิ้น 353,000 ล้านบาท ทั้งนี้ธนาคารพาณิชย์กันเงินสำรองเพื่อสร้างความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินสำรอง 622,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 20,800 ล้านบาท และสัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 176%