BGRIM จีบซื้อโรงไฟฟ้า SPP 2-3 ราย ลงทุนเวียดนามเพิ่ม ต้นทุนเงินลด 0.50%

HoonSmart.com>>บี.กริม เพาเวอร์เดินหน้าซื้อโรงไฟฟ้า SPP เพิ่มที่จังหวัดอ่างทอง สนใจขยายการลงทุนเวียดนาม หลัง COD รวม 420 เมกะวัตต์ตามกำหนด มิ.ย. ยืนยันทะลุเป้าหมาย 5,000 เมกะวัตต์เร็วกว่าแผนปี 2568  ส่วนต้นทุนการเงินลดจาก 4.9% เหลือ 4.4% 

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) เปิดเผยว่า บริษัทกำลังศึกษาการซื้อโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP)ในประเทศ จำนวน 2-3 ราย ขนาดกำลังการผลิตแห่งละ 100 เมกะวัตต์ ในจังหวัดอ่างทองใกล้กับที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้มีโรงไฟฟ้า 3 โรง คาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงไตรมาส 3/2562

ส่วนการลงทุนในต่างประเทศ บริษัทสนใจลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมและก๊าซธรรมชาติในเวียดนามเพิ่มเติม หลังจากโครงการ Dau Tieng Tay Ninh Energy Solar (DT1) กำลังการผลิต 180 เมกะวัตต์ จะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในช่วงต้นเดือนมิ.ย.นี้ และโครงการ DT2 กำลังการผลิต 240 เมกะวัตต์ จะเริ่ม COD ในช่วงกลางเดือนมิ.ย.นี้

นอกจากนี้ บริษัทยังเจรจาซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมในมาเลเซีย กำลังการผลิต 220 เมกะวัตต์ ส่วนพลังงานลมในประเทศเกาหลีใต้บริษัทอยู่ระหว่างการก่อสร้างกำลังการผลิต 36 เมกะวัตต์ โดยจะ COD ในช่วงปี 2563 ขณะเดียวกันบริษัทยังคงมองโอกาสการลงทุน LNG ในประเทศไทย และเปิดรับการเจรจาซื้อโรงไฟฟ้า SPP ในประเทศอื่นๆ เพิ่มเติม

นางปรียนาถกล่าวย้ำถึงเป้าหมายกำลังการผลิตรวม 5,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2568 ว่า มีโอกาสที่จะทำได้เร็วกว่ากำหนด เพราะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดว่าสิ้นปี 2562 บริษัทจะมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมแตะ 3,063 เมกะวัตต์ จากปีก่อนที่ 2,076 เมกะวัตต์

ส่วนแนวโน้มรายได้ในปีนี้ บริษัทยังมั่นใจว่าทำได้ตามเป้าหมายเติบโต 15-20% จากปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 3.72 หมื่นล้านบาท โดยมี COD เพิ่มขึ้นอีก 987 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้า 6 โครงการ ในไทย ลาว และเวียดนาม

นายนพเดช กรรณสูต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ กล่าวว่า บริษัทมีเงินกู้ทั้งหมด 6 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่ประมาณ 70% เป็นสินเชื่อโครงการ และประมาณ 29% เป็นของโฮลดิ้ง มีการทยอยลดต้นทุนการเงินปิดความเสี่ยงในเรื่องดอกเบี้ย ทำให้ต้นทุนลดลงจาก 4.9% ต่อปี อยู่ที่ 4.4% ในปัจจุบัน

ขณะเดียวกันบริษัทยังมีโครงสร้างรายได้ที่มั่นคง สัญญา 3,245 เมกะวัตต์ กำลังดำเนินการ 2,200 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น SPP ใช้พลังงานก๊าซ 2,257 เมกะวัตต์ คิดเป็น 70% และพลังงานทดแทน 30% เน้นการพัฒนาต่อยอดการร่วมลงทุนในหลายประเทศ อาทิ พลังน้ำที่ลาว เกาหลีใต้เป็นกังหันลม เวียดนามมีโอกาสพลังงานลม ส่วนกัมพูชาเปิดโซลาร์ฟาร์มรอบแรก และบริษัทพร้อมจะเข้าประมูลโครงการในมาเลเซีย ทั้งแก๊ส และพลังงานทดแทน ขณะเดียวกันลูกค้ารับซื้อไฟก็มีความมั่นคง หากเป็นภาครัฐบาลมีสัญญาระยะยาว 20-25 ปี

น.ส.ศลยา ณ สงขลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ กล่าวว่า บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากไตรมาส 4/2561 แนวโน้มจะดียิ่งขึ้น เพราะไม่มีการซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าและต้นทุนการเงินลดลง