AI-AIE โฉมใหม่ เทรด10 มิ.ย. นโยบายรัฐหนุนโตระยะยาว

HoonSmart.com>> “AI-AIE” กลับมารอบนี้ดีขึ้น ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ปรับปรุงธุรกิจให้แข็งแกร่ง จังหวะเหมาะรับประโยชน์เต็ม ๆ นโยบายรัฐ EEC-มอเตอร์เวย์ หนุนลูกถ้วยไฟฟ้าโต 10% จากปกติ 4-5% ส่วน เอไอ เอนเนอร์จี ได้ บี 10 มีลุ้นหยุดขาดทุน วันนี้เปิดซื้อขายหุ้นไม่มีซิลลิง-ฟลอร์ รายย่อยยิ้ม ตลาดหลักทรัพย์เตือนนักลงทุนศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนลงทุน

นายธนิตย์ ธารีรัตนาวิบูลย์ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชียน อินซูเลเตอร์ (AI) ผู้ผลิตและจำหน่ายลูกถ้วยไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 50% เปิดเผยว่า ในช่วงที่หุ้นหยุดการซื้อขายมานานเกือบ 3 ปี บริษัทได้มีการปรับปรุงธุรกิจ การผลิต เช่น การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาโรงงานและใช้แก๊สธรรมชาติที่ต่อท่อตรงของปตท.เข้าโรงงาน สามารถลดต้นทุนพลังงานได้ 1 ล้านบาท/เดือน รวมถึงการลดกระบวนการเผาให้สั้นลง เพิ่มปริมาณการผลิต ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้น(มาร์จิ้น)ดีขึ้น เป็นประมาณ 45-48% และอัตรากำไรสุทธิ 35-38%

ขณะเดียวกันนโยบายของภาครัฐ เช่น โครงการขยายเส้นทางมอเตอร์เวย์ การตัดถนนเส้นทางใหม่ และโครงการ EEC ที่เกิดขึ้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.) การไฟฟ้าภูมิภาค(กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.)จะต้องสร้างโครงข่าย มีการลงทุนสายส่งไฟฟ้าแรงสูง คาดว่าความต้องการใช้ลูกถ้วยมากขึ้นอีก 2-3 ปี

นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีการจดสิทธิบัตรกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และยกสิทธิบัตรให้สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม นำไปทำมาตรฐานไทย ผลที่ได้รับคือที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติให้หน่วยงานของรัฐซื้อสินค้าของบริษัทได้โดยตรง 30% เป็นระยะเวลา 5 ปี และเปิดประมูล 70% แต่ที่ผ่านมายังไม่มีบริษัทใดเข้ามาแข่งขันประมูล เนื่องจากไม่สามารถผลิตได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้

ตอนนี้กำลังจดอนุสิทธิบัตร ป้องกัน นก หนู งู กระรอก ไม่ทำให้หม้อแปลงระเบิด ต่อไปไฟจะดับเพราะเหตุนี้น้อยลง ซึ่งจะยกสิทธิบัตรให้สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม เพื่อนำไปทำมาตรฐานไทยเช่นเดียวกัน

“ที่ผ่านมา ยอดขายถ้วยแก้วไฟฟ้าโตปีละ 4-5% คาดว่าปีนี้จะโตถึง 10% ต่อเนื่องถึงปีหน้าด้วย นอกจากนี้ยังมีงานในมือรอส่งมอบ (backlock) จำนวน 1,100 ล้านบาท จะรับรู้รายได้ทั้งหมดในปีนี้ นอกจากนี้ยังมีงานอีกจำนวนมาก รวมถึงลูกถ้วยไฟฟ้าแบบล้อ (Spool Insulators) ที่ใช้เป็นจับยึดสายไฟฟ้าในระบบจำหน่ายแรงดัน 220 – 380 โวลต์ ที่มีอัตรากำไรดีมากด้วย” นาย ธนิตย์กล่าว

ปัจจุบันโรงงานของบริษัทที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ มีการใช้กำลังการผลิต 95% ซึ่งบีโอไอจะครบอายุประมาณกลางปี 2563 ขณะนี้มีการกลับไปใช้โรงงานเก่า ส่วนโรงงานใหม่จะพิจารณาเรื่องการลงทุนในต้นปีหน้า การสร้างโรงงานจะต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี

ส่วน บริษัท เอไอ เอนเนอร์จี (AIE) นาย ณรงค์ ธารีรัตนาวิบูลย์ ประธานกรรมการ ประธานกรรมการบริหาร AIE ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์ม ประกอบด้วย น้ำมันไบโอดีเซล น้ำมันปาล์มโอเลอีน รวมถึงวัตถุดิบและผลพลอยได้ กล่าวว่า ในไตรมาส 1 /2562 บริษัทยังมีผลขาดทุนอยู่ 43 ล้านบาท  ส่วนหนึ่งเกิดจากสต็อก ขณะนี้แนวโน้มผลการดำเนินงานดีขึ้น มีโอกาสที่จะไม่ขาดทุน เนื่องจากราคาปาล์มที่สูงขึ้น นโยบาย B10 เพิ่มการใช้ผสมในน้ำมันไบโอดีเซล บริษัทเพิ่มการผลิตจาก 2 แสนลิตร/วัน เป็น 5-6 แสนลิตร/วัน รวมถึงนโยบายลดจำนวนวันในการสต็อกจาก 60 วันเหลือ 40 วัน

บริษัทเพิ่มประสิทธิภาพการกลั่น รับจ้างการกลั่น รวมถึงการขยายธุรกิจใหม่ เทรดดิ้ง เรือที่มีอยู่ 1 ลำให้บริการขนส่งกลีเซอรีนดิบเข้ามาให้กับลูกค้า สร้างรายได้ จากที่มีการขนส่งสินค้าของบริษัทออกไปขายต่างประเทศเท่านั้น ทั้งนี้ ลูกค้ามีความต้องการใช้บริการเรือของบริษัทสูงมาก เพราะสามารถลดต้นทุนขนส่งได้ 15% แทนที่จะนำเข้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์

สำหรับหุ้น AI ที่จะกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กลุ่ม ทรัพยากร หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค วันที่ 10 มิ.ย.2562 มีจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free float) 7,906 ราย คิดเป็น 48.98 % โดยมีบริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ (APM)เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (กรณีพ้นเหตุเพิกถอน)

ส่วน บริษัท เอไอ เอนเนอร์จี (AIE) จะกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ(mai)ในกลุ่มทรัพยากร วันที่ 10 มิ.ย. 2562 โดยมี AI ถือหุ้นใหญ่ที่สุด 61.77% มีรายย่อยถือจำนวน 5,301ราย คิดเป็น 27.16%

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขอให้ผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลของ AI และ AIE เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน หลังจากอนุมัติให้หุ้นทั้งสองบริษัทกลับเข้ามาซื้อขาย ตั้งแต่วันที่ 10 มิ.ย. 2562 เป็นต้นไป เพื่อให้หุ้นของ AI และ AIE สามารถซื้อขายได้ตามสภาพความเป็นจริง จึงกำหนดให้ราคาซื้อขายในวันที่ 10 มิ.ย. 2562 ไม่มีราคาสูงสุด(ซิลลิ่ง)และต่ำสุด(ฟลอร์) ทั้งนี้ราคาปิดครั้งสุดท้ายของ AI อยู่ที่ 1.52 บาท และ AIE ปิดที่ 0.67 บาท