ก.ล.ต.ยกระดับตลาดทุนเพื่อทุกคน เพิ่มผู้เล่น เอื้อ SME คุ้มครองผู้ลงทุน

HoonSmart.com>> “รื่นวดี สุวรรณมงคล” เลขาธิการ ก.ล.ต. คนใหม่ เปิดแถลงนโยบายครั้งแรก ทำงานเชิงรุก โจทย์ใหญ่ในการพัฒนาตลาดทุนสำหรับทุกคน กลุ่มเป้าหมายต้องชัดเจน พร้อมแบ่งปันประสบการณ์  ต่อยอดนโยบายที่ทำมาแล้วให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ปรับตัวภายใต้ระบบนิเวศน์ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เปิดโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินและตลาดทุนกว้างขึ้น ต่างจังหวัดมีศักยภาพการออมและการลงทุน เพิ่มผู้เล่นในตลาดทุน พร้อมเปิดโอกาสให้ SME เข้ามาระดมทุน อำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ เพิ่มความสามารถการแข่งขันของประเทศ

 

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดบ้าน ก.ล.ต.แถลงนโยบายในการขับเคลื่อนตลาดทุนไทยอย่างเป็นทางการ ภายหลังจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า แนวทางกำหนดนโยบายและหลักการทำงานของ ก.ล.ต.ยึดตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี, แผนพัฒนาตลาดทุนปี 2560-2564, สอดคล้องกับ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ฉบับที่ 6 ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 17 เม.ย.2562, การพัฒนาในทุกมิติรองรับระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว, พัฒนาไปสู่ความยั่งยืน, สานงานต่อเพื่อให้เกิดผลอย่างรวดเร็ว เป็นต้น

โจทย์ใหญ่คือการยกระดับตลาดทุนไทยสำหรับทุกคน กลุ่มเป้าหมายต้องชัดเจน ไม่เฉพาะกรุงเทพฯ การสร้างโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงิน การสร้างโอกาสเข้าถึงตลาดทุน พร้อมสร้างความสามารถในการแข่งขัน ให้กับผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่าย ลดแบบฟอร์ม และการทำธุรกิจต้องสอดคล้องกับสิทธิมนุษยชน

การทำงานมีนโยบาย 4 ร รุก รวดเร็ว รอบคอบ ร่วมมือ เน้นคุณภาพมาพร้อมกับความรวดเร็ว หากไม่ทำงานเชิงรุกจะตามการเปลี่ยนแปลงไม่ทัน ความสำเร็จต้องมาจากการทำงานร่วมกัน บูรณาการต้องครอบคลุมกับทุกหน่วยฝ่าย รวมถึงต่างประเทศ ซึ่งได้รายงานคณะกรรมการก.ล.ต.และชี้แจงต่อทีมงานว่าจะขอใช้ประสบการณ์ในการทำงาน ก.ล.ต. ที่ผ่านมา 12 ปี และตลอด15 ปีในชีวิตราชการมาเสริม  ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพและความเข้มแข็งมากขึ้น พร้อมชวนคิดให้มองโจทย์ให้กว้างขึ้น โดยไม่ลืมภารกิจพื้นฐานของ ก.ล.ต. ส่วนเคพีไอที่มีอยู่แล้วต้องชัดเจนมีการกำหนดกรอบเวลาทำงานและจำนวนคดีที่แน่นอน เช่นการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดก่อนปี 2560 จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จกี่เรื่อง ต่อไปต้องกำหนดเคพีไอที่เหมาะสมและกึ่งๆ ท้าทายด้วย

สำหรับการทำงานมี 10 เรื่องที่จะเร่งดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรม  นโยบายสำคัญ คือการเข้าถึงตลาดทุน มีนโยบายให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุน อยู่ระหว่างศึกษาปรับเกณฑ์การเสนอขายหลักทรัพย์แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ให้เหมาะสมกับธุรกิจ SME และภายในเดือน ก.ค.นี้ เตรียมจัดทำบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น (MOU) กับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนให้ SME ที่มีคุณภาพเข้ามาระดมทุนในตลาดทุน

“ก.ล.ต.เล็งเห็นถึงความสำคัญ SME ที่มีต่อเศรษฐกิจไทยถึง 40% สร้างการจ้างงานกว่า 12 ล้านคน ถ้าผลักดัน SME มีเงินทุนขยายธุรกิจ เชื่อว่าจะยกระดับเศรษฐกิจไทยได้ดีขึ้นในอนาคต” นางสาวรื่นวดี กล่าว

นอกจากนี้ ยังต้องขยายภารกิจในครอบคลุมเป้าหมายมากขึ้น ภายในเดือน มิ.ย.นี้ ก.ล.ต. เตรียมจัดโครงการ “คาราวาน ก.ล.ต.ไปสู่พื้นที่ต่างจังหวัด” นำร่องในจังหวัดขอนแก่น พร้อมส่งเสริมให้ความรู้เรื่องการเงินและการลงทุนกับประชาชน เสริมกับที่ตลาดหลักทรัพย์ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ และธนาคารพาณิชย์ทำอยู่แล้วในปัจจุบัน เพื่อไม่ให้ประชาชนถูกหลอก เหมือนกรณีแชร์ลูกโซ่ ขณะเดียวกันต่อยอดผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีคุณภาพไว้ใช้เป็นเงินออมในยามเกษียณอายุ ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนนักลงทุน จากปัจจุบันมีนักลงทุนที่เปิดบัญชีซื้อขายหุ้นประมาณ 1.5-1.6 ล้านราย บัญชีซื้อขายกองทุน 1.5 ล้านคน ก.ล.ต.จะต้องลงพื้นที่ ทำความรู้จัก และให้ความรู้เรื่องการใช้ตลาดทุน สร้างเครือข่ายภาคประชาชนให้มีส่วนร่วมงานของ ก.ล.ต.

นางสาวรื่นวดีกล่าวว่า ก.ล.ต.มีหน้าที่กำกับดูแล แต่ยังคงให้ความสำคัญเรื่องการคุ้มครองผู้ลงทุน ปัจจุบัน ก.ล.ต. กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง Investor Protection Fund ลักษณะกองทุนเพื่อเยียวยาและคุ้มครองผู้ลงทุนครอบคลุมความเสียหายที่เกิดจากการลงทุนในสินทรัพย์ทุกประเภท รวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัล คาดว่ามีความชัดเจนใน 3-6 เดือนข้างหน้า ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์มีกองทุนที่คุ้มครองในเรื่องหุ้นเพียงอย่างเดียว รวมทั้ง อยู่ระหว่างประสานงานกับสมาคมคุ้มครองผู้ลงทุนไทย เพื่อดูแลเรื่องนี้ และจะขอความร่วมมือกับทางสภาทนายความเข้ามาดูแลเรื่องของข้อกฎหมายในการดำเนินคดีต่อไปด้วย ส่วนผู้ลงทุนที่ต้องการร้องเรียนสามารถโทรสายด่วน 1207 เพื่อยื่นเสนอเรื่องเข้ามาที่ ก.ล.ต.ได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง

ส่วนความร่วมมือและส่งเสริมงานด้านต่างประเทศ คาดว่าในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า ทีมคณะผู้บริหารระดับสูงของ ก.ล.ต.ไทย จะเดินสายเข้าพบกับคณะผู้บริหารระดับสูงของ ก.ล.ต. ประเทศกัมพูชา, เมียนมา และ สปป.ลาว เพื่อศึกษาการออกผลิตภัณฑ์ด้านตลาดทุนร่วมกัน เช่น การจดทะเบียน 2 ตลาดหลักทรัพย์ หรือ ออกใบแทนหลักทรัพย์โดยมีหุ้นของบริษัทเป็นหลักทรัพย์อ้างอิง (ดีอาร์) เป็นต้น ที่ผ่านมาได้เข้าหารือกับ ก.ล.ต.ประเทศฮ่องกง มีแนวทางร่วมกันคือศึกษาความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงการซื้อขายกองทุนข้ามประเทศ เป็นแผนเดิมตั้งแต่ปี 2547 เพื่อเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วในการเสนอขาย ซึ่งฮ่องกงคือประตูสู่ประเทศจีน ทำให้นักลงทุนไทยมีทางเลือกลงทุนที่หลากหลาย ใช้เป็นโมเดลกับประเทศอื่น เพื่อเปิดโอกาสให้ผลิตภัณฑ์ตลาดทุนของไทยยกระดับในเวทีโลกมากขึ้น

ขณะเดียวกันนักลงทุนสถาบันมองหาการลงทุนในหลักทรัพย์ที่ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน ก.ล.ต.ได้เปลี่ยนชื่อฝ่ายจาก CG (Corporate Governance) เป็น ESG (Environment,Social,Governance) และการพัฒนาองค์กรไปสู่ความยั่งยืน เปลี่ยนเข้าสู่ Digital Transformation นับเป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน ปัจจุบันได้นำบิ๊กดาต้ามาวิเคราะห์การทำงานในมิติต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานผู้เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับดับขีดความสามารถการแข่งขันของไทยให้ทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ ในเวทีโลกได้ในระยะยาว

นางสิริวิภา สุพรรณธเนศ รองเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต.กำลังพิจารณาการออกประกาศ เพื่ออนุญาตให้ SME เข้ามาระดมทุนผ่านตลาดทุน ในรูปของการออกตราสารทางการเงิน โดยร่างประกาศจะต้องหารือกับผู้เกี่ยวข้องก่อน เช่น กำหนดวงเงิน และกลุ่มนักลงทุน คาดว่าจะใช้เวลา 1-2 เดือนในการรวบรวมข้อมูล หลังจากนั้นจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็น ก่อนที่จะออกประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

ส่วนกรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ก.ล.ต.อนุมัติให้เสนอขายหลักทรัพย์ (ไอพีโอ) ยากยิ่งขึ้น นางสิริวิภากล่าวว่า พิจารณาตามเกณฑ์ โดยก่อนที่จะยื่นไฟลิ่ง มีการปรึกษาข้อมูลก่อน หากไม่มีอะไรติดขัด  ใช้เวลาพิจารณาอนุมัติเพียง 120 วัน ขณะที่กรอบเวลากำหนดสูงสุด 165 วัน ส่วนผู้สอบบัญชีรับอนุญาตของไทย ได้มาตรฐานตามมาตรฐานสากล ปัจจุบันผูสอบบัญชีของไทย 1 คน ตรวจสอบบัญชีเฉลี่ย 3.4 บริษัท อยู่ในมาตรฐานของเอเชีย ที่ผู้สอบบัญชี 1 คนสอบบัญชี 4 บริษัท นอกจากนี้มีการจัดอบรม เพื่อเพิ่มจำนวนผู้สอบบัญชี รองรับการเติบโตของหลักทรัพย์