ศูนย์วิจัยกสิกรไทย : จับตาประชุมเฟด 18-19 มิ.ย.นี้ คงดอกเบี้ย

HoonSmart.com>>ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการประชุมเฟด 18-19 มิ.ย.นี้  ส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยนโยบาย หลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มมีสัญญาณอ่อนแอลง เงินเฟ้อทรงตัวระดับต่ำกว่าเป้าหมายระยะยาวของเฟด สงครามการค้ากับจีน ตัวแปรสำคัญต่อความเสี่ยงการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นปัจจัยในการตัดสินใจ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า  การประชุมนโยบายการเงิน ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) วันที่ 18-19 มิถุนายน 2562 ไม่น่าจะปรับเปลี่ยนมุมมองการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากประมาณการรอบก่อนอย่างมีนัยสำคัญ และมีโอกาสปรับมุมมองเงินเฟ้อลงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งส่งสัญญาณแสดงความกังวลต่อความเสี่ยงของเศรษฐกิจภายนอกมากขึ้น เปิดช่องว่างปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินระยะข้างหน้า  หากพัฒนาความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และประมาณการเงินเฟ้อของเฟดสูงขึ้น

ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มมีสัญญาณอ่อนแอลง สนับสนุนการพิจารณาความเหมาะสมของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า พัฒนาการเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มมีสัญญาณชะลอตัวลงชัดเจนมากขึ้น อาทิ พัฒนาการของตลาดแรงงานที่การเพิ่มขึ้นของการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือนพฤษภาคม 2562 เพิ่มขึ้นเพียง 7.5 หมื่นตำแหน่ง เทียบกับค่าเฉลี่ยการเพิ่มขึ้นของตำแหน่งงานนอกภาคการเกษตรในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.64 แสนตำแหน่ง/เดือน

นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างรายชั่วโมง เป็นอีกเครื่องชี้สะท้อนภาพรวมของตลาดแรงงาน มีทิศทางชะลอลงเช่นกัน โดยขยายตัวในระดับต่ำสุดในรอบกว่า 8 เดือน ทั้งนี้ การชะลอลงของการปรับขึ้นค่าจ้างรายชั่วโมง อาจจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะกลางที่มีแนวโน้มชะลอลง อาจจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กดดันให้ทิศทางของเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในระยะต่อไป

ดังนั้น ท่ามกลางแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เริ่มมีทิศทางชะลอลงชัดเจนขึ้น ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังคงทรงตัวในระดับต่ำกว่าเป้าหมายระยะยาวของเฟด คงเป็นปัจจัยที่ทำให้เฟดอาจมีการทบทวนถึงความเหมาะสมของการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า

มองไปข้างหน้า พัฒนาการของประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ คงเป็นตัวแปรสำคัญต่อความเสี่ยงการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อันเป็นปัจจัยที่จะส่งผลต่อจังหวะในการตัดสินใจ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ปัจจัยข้อพิพาททางการค้าอาจจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีนัยสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้าได้ โดยเห็นได้จากการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ามูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ฯ จากจีนในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อภาคการผลิตในระยะข้างหน้าที่คงจะเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น รวมทั้ง ความเสี่ยงที่กำลังซื้อในระยะข้างหน้าอาจชะลอลง

ดัชนี ISM ภาคการผลิตของสหรัฐฯ เดือนพฤษภาคม 2562 ปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี

จุดสนใจที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด คงหนีไม่พ้นการประชุม G20 ในวันที่ 28-29 มิถุนายน 2562 ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะมีการหารือกัน โดยในกรณีที่การหารือไม่ได้ข้อสรุป อาจจะส่งผลให้สหรัฐฯ ขยายการเก็บภาษีนำเข้าให้ครอบคลุมสินค้าจีนที่เหลือมูลค่าประมาณ 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งหากสถานการณ์สงครามการค้าลุกลามออกไป คงเป็นปัจจัยซ้ำเติมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่การเติบโตกำลังชะลอลงในปัจจุบันเผชิญกับความเสี่ยงที่สูงขึ้น ซึ่งประเด็นดังกล่าวอาจจะเพิ่มโอกาสที่เฟดอาจจะตัดสินในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้า

ทั้งนี้  การเปิดเผยประมาณการเศรษฐกิจรอบการประชุมเดือนมิถุนายน 2562 ของเฟด คงจะเป็นการส่งสัญญาณเปิดโอกาสให้เฟด มีช่องว่างในการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เฟดน่าจะคงมุมมองการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากประมาณรอบก่อน (มี.ค. 62) ในขณะที่เฟดมีโอกาสปรับมุมมองเงินเฟ้อลงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และอาจส่งสัญญาณแสดงความกังวลต่อความเสี่ยงของเศรษฐกิจภายนอกมากขึ้น ในส่วนของมุมมอง คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (dot-plot)

ประมาณการอัตราดอกเบี้ยของเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ น่าจะส่งสัญญาณไปที่การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยอาจจะมีมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดที่สนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากขึ้น ทั้งนี้ การส่งสัญญาณดังกล่าวของเฟดคงจะเป็นการเปิดช่องว่างในการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า หากพัฒนาความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และแนวโน้มเงินเฟ้อที่เฟดคาดการณ์ปรับเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับผลต่อเศรษฐกิจไทย คาดการณ์ต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของกระแสเงินทุนออกจากสินทรัพย์สกุลดอลลาร์ฯ อันส่งผลให้ค่าเงินบาทในระยะข้างหน้ามีโอกาสปรับตัวแข็งค่าขึ้น และกดดันให้ทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะกลาง-ยาวของไทยปรับลดลง

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของเฟดเปิดโอกาสให้ธนาคารในประเทศเกิดใหม่ รวมทั้งไทย มีพื้นที่ในการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติมในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจที่ได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แต่คาดว่าที่ประชุมคณะกรรมการเงินของไทยจะยังคงติดตามพัฒนาการในเชิงความเสี่ยงความเปราะบางของภาคการเงินโดยเฉพาะประเด็นการก่อหนี้ของครัวเรือนเพื่อชั่งน้ำหนักในการพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยของไทยต่อไป