ความจริงความคิด : การเงินเรื่องที่ผู้หญิงต้องใส่ใจ

โดย…..สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP

“…มีสลึงพึงประจบให้ครบบาท……..อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์
จงมักน้อยกินน้อยค่อยบรรจง……..อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน
ไม่ควรซื้อก็อย่าไปพิไรซื้อ……..ให้เป็นมื้อเป็นคราวทั้งคาวหวาน
เมื่อพ่อแม่แก่เฒ่าชรากาล……..จงเลี้ยงท่านอย่าให้อดระทดใจ
ด้วยชนกชนนีนั้นมีคุณ……..ได้การุณเลี้ยงรักษามาจนใหญ่
อุ้มอุทรป้อนข้าวเป็นเท่าไร……..หมายจะได้พึ่งพาธิดาดวง
ถ้าเราดีมีจิตคิดอุปถัมถ์……..กุศลล้ำเลิศเท่าภูเขาหลวง
จะปรากฏยศยิ่งสิ่งทั้งปวง……..กว่าจะล่วงลุถึงซึ่งพิมาน
เทพไทในห้องสิบหกชั้น……..จะชวนกันสรรเสริญเจริญสาร
ว่าสตรีนี้เป็นยอดยุพาพาล……..ได้เลี้ยงท่านชนกชนนี…”

ขอยกบทประพันธ์ “สุภาษิตสอนหญิง” ของ ท่านสุนทรภู่ ที่ได้ให้ความสำคัญถึงเรื่อง ผู้หญิงกับการบริหารเงิน

จะเห็นได้ว่า เรื่องเงินเป็นเรื่องที่สำคัญมาตั้งแต่อดีต และยิ่งทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าในปัจจุบันเราจะได้เห็นถึงความสามารถของผู้หญิงมากขึ้นเรื่อยๆ เราได้เห็นผู้หญิงหลายคนที่เป็นผู้นำในแวดวงการเงิน ในวงการธุรกิจ ฯลฯ และสามารถประสบความสำเร็จได้ไม่แตกต่างกับผู้ชาย ในหลายกรณีประสบความสำเร็จสูงกว่าผู้ชายเสียอีก เหตุผลหนึ่งก็เพราะโดยทั่วไปนอกจากผู้หญิงจะมีความขยันขันแข็งในการทำงาน ละเอียดรอบคอบแล้ว ผู้หญิงยังมีความอดทนซึ่งเป็นคุณสมบัติที่มาพร้อมกับความเป็นแม่

แม้ว่าผู้หญิงจะมีบทบาทในสังคมและเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ผู้หญิงก็มีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากสังคม เช่น การหย่าร้าง การเป็น single mom ที่สูงขึ้น (ในปัจจุบันที่สถิติการหย่าร้างมีสูงขึ้นอยู่ที่อัตรา 1 ใน 3 จากเมื่อ 10 ปีก่อนที่อยู่ 1 ใน 10) ฯลฯ หรือ ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจ และที่สำคัญ คือ ความเสี่ยงทางการเงิน ซึ่งหากมองจากปัจจัยภายนอก ก็จะพบความผันผวนที่รุนแรงขึ้นในทุกตลาดการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้น ตลาดทอง หรือแม้แต่การฝากเงิน หรือหากจะมองจากปัจจัยภายใน ก็จะพบปัญหาด้านสุขภาพที่ผู้หญิงจะมีแนวโน้มของการเข้ารับการรักษาพยาบาลสูงกว่าผู้ชาย มีอายุที่ยืนยาวกว่าผู้ชาย ฯลฯ

จากข้อมูลการสำรวจของกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP) เมื่อปี 2551อาจเก่าหน่อยแต่ก็ช่วยให้เห็นภาพอะไรบางอย่างเหมือนกัน พบว่า

ผู้สูงอายุทุก 100 คนจะเป็นผู้หญิง 54 คน เป็นผู้ชาย 46 คน
ในจำนวนผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว 373,515 คน สองในสามจะเป็นผู้หญิง
ผู้หญิงอายุยืนยาวกว่าชายคือ ผู้หญิงจะมีอายุเฉลี่ย 75.4 ปี ส่วนผู้ชายมีอายุเฉลี่ย 68.4 ปี
ขณะที่ ผู้หญิงกลับมีอัตราการเจ็บป่วยสูงกว่าชาย เท่ากับ 18.1% ต่อ 14.5%

ความเสี่ยงต่างๆที่เกิดกับผู้หญิงไทยเหล่านี้ ทำให้เรื่องการเงินจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่ผู้หญิงไทยต้องเอาใจใส่ พอดีได้ไปเจอเนื้อหางานเสวนาเรื่อง “สตรีไทย … บทบาทด้านเศรษฐกิจและการเงิน” ในปี 2553 จัดโดยสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ น่าสนใจและสรุปได้คร่าวๆ เกี่ยวกับหลักการบริหารเงินสำหรับผู้หญิง ดังนี้ครับ

มองเป้าหมายระยะยาว อย่าแกว่งไปตามภาวะตลาด
ต้องมีเงินออมโดยควบคุมรายจ่าย จาก รายได้ – เงินออม = ค่าใช้จ่าย , ออมก่อนเหลือค่อยใช้
ชำระหนี้เพิ่มขึ้น หรือปรับหนี้ (refinance) เพื่อลดภาระดอกเบี้ย
ให้เงินทำงาน โดยมองหาการลงทุนที่ได้รับประโยชน์ทางภาษี เช่น ลงทุนในกองทุน RMF, LTF ที่สามารถลดหย่อนภาษีได้อย่างละ 15% ของเงินได้ ไม่เกิน 500,000 บาท หรือ ซื้อประกันชีวิตที่อายุกรมธรรม์มากกว่าหรือเท่ากับ 10 ปี เบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 100,000 บาท หรือ กำไรจากการลงทุนในหุ้น กองทุนรวม ไม่ต้องเสียภาษี
ศึกษาหาความรู้ในสิ่งที่ตนเองสนใจจะลงทุน
กระจายพอร์ตการลงทุน โดยการจัดสรรเงินเพื่อให้บรรลุเป้าหมายชีวิต
ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนการลงทุน
ประเมิน และปรับปรุงพอร์ตการลงทุนให้เหมาะกับตนเองสม่ำเสมอ