AOT ดันดัชนีทะลุ 1,705 จุด อู้ฟู่ กินค่าต๋งดิวตี้ฟรีเพิ่มกว่า 2 เท่า

HoonSmart.com>>AOT เป็นพระเอก ดันดัชนีหุ้นทะลุ 1,705 จุด วอลุ่มทะลักกว่า 1 แสนล้านบาท นักลงทุนกระโดดซื้อ หลัง คิง เพาเวอร์ จ่ายผลตอบแทนดิวตี้ฟรีดีเกินคาด สูงกว่า 2 เท่าจากปัจจุบัน การันตีขั้นต่ำปีแรกรวม 2.35 หมื่นล้านบาท นักวิเคราะห์แห่ปรับเป้าราคา บลจ.กรุงไทยเตือนระวังหุ้นขึ้นสั้น ตลาดรับข่าวดีเกินไป ยืนเป้าสิ้นปี 1,720 จุด 

นักลงทุนกระโดดซื้อหุ้นบริษัทท่าอากาศยานไทย (AOT) ในช่วงบ่าย  ผลักดันราคาปิดที่  73.73 บาท เพิ่มขึ้น 5.75 บาทหรือ 8.46% มีผลต่อดัชนีถึง 7.94 จุด ส่งผลให้ตลาดปิดแข็งแกร่งที่ 1,705.98 จุด พุ่งขึ้น 22.38 จุด 1.33% มูลค่าซื้อขายหนาแน่น 107,568.94 ล้านบาท โดยเฉพาะ AOT ตัวเดียวเทรด 23,117 ล้านบาท ดัชนีที่ขึ้นแรงในรอบกว่า 8 เดือน เป็นโอกาสให้รายย่อยขายทำกำไรถึง 13,537 ล้านบาท ส่วนสถาบันเก็บ 9,348 ล้านบาท และต่างชาติซื้อเล็กน้อย 1,809 ล้านบาท พร้อมซื้อฟิวเจอร์ 8,234 สัญญา ตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ ที่มีความหวังเรื่องการค้า ส่งผลให้ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวขึ้นยกแผงมากกว่า 1% ในการซื้อขายวันที่ 19 มิ.ย. 2562

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นที่ปรับตัวขึ้นแรง ส่วนหนึ่งยังมาจากราคาหุ้นกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะครอบครัว ปตท. สถานการณ์โลกผ่อนคลาย สนับสนุนให้ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น และราคาหุ้น PTT บวก 1.05% มีผลต่อดัชนี 1.38%

ขณะเดียวกันหุ้นใหญ่ในกลุ่มมือถือยังได้รับผลดีจากการจัดสรรคลื่นความถี่ 700 MHz ลงตัว ทั้ง 3 รายไม่ต้องแข่งขันกัน แบ่งคนละชุด ใบอนุญาตละ 10 MHz ราคาใบอนุญาตละ 17,584 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน 18,814 ล้านบาท ส่งผลให้ ADVANC บวก 2% มีผลต่อดัชนี 1 จุด

อย่างไรก็ตาม บลจ.กรุงไทย ระบุว่า ธนาคารกลางยุโรป และสหรัฐอเมริกาส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงิน สนับสนุนหุ้นระยะสั้น มองตลาดรับข่าวดีเกินไป คาดเฟดลดดอกเบี้ยน้อยกว่าตลาดคาด คงไม่ถึง 2-3 ครั้ง ส่วนหุ้นไทยคาดผันผวน คงเป้าสิ้นปี 1,720 จุด แนะนำลงทุน กองรีท เฮลธ์แคร์ เติบโตได้ทุกสภาวะ

บล.ฟินันเซีย ไซรัส ออกบทวิเคราะห์หุ้น AOT ที่จะได้รับค่าธรรมเนียมดิวตี้ฟรี จากบริษัทคิง เพาเวอร์ สูงเกินคาด รวมแล้วเกือบ 3 เท่า ช่วยเพิ่มมูลค่าประมาณ 20 บาท กำลังปรับเป้าหมายราคาจาก 73 เป็นประมาณ 93 บาท สัมปทานที่มีระยะเวลา 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย.2563-31 มี.ค.2574 บริษัทคิง เพาเวอร์ ได้การันตีค่าธรรมเนียมขั้นต่ำในปีแรก สำหรับการบริหารดิวตี้ฟรี ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 15,419 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) คิดเป็นเกือบ 3 เท่า จากสัญญาปัจจุบันปีนี้ได้ 5,377 ล้านบาท

ส่วนการบริหารพื้นที่ร้านค้าปลีกในสนามบินสุวรรณภูมิจะจ่ายปีแรกขั้นต่ำ 5,798 ล้านบาท จากสัญญาปัจจุบันปีนี้ได้ 2,198 ล้าน รวมถึงผลตอบแทนจากดิวตี้ฟรีของ 3 สนามบินภูมิภาค ปีแรก 2,331 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวว่า   AOT ได้มีการเปิดซองเสนอค่าตอบแทนและประกาศผลคะแนนสูงสุดของการได้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งผู้ที่ได้รับคะแนนรวมสูงสุด คือ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด โดย เสนอค่าตอบแทนสูงกว่าที่บริษัทเคยได้รับอยู่เดิมและสูงกว่าที่คาดหมาย โดยมีคะแนนสุงสุด 94.30 คะแนนและเสนอค่าผลประโยชน์ตอบแทนปีละ 15,419 ล้านบาท ทิ้งห่างอันดับ 2 กิจการร่วมค้าการบินกรุงเทพ ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี (ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) คือ 83.10 คะแนน และเสนอค่าผลประโยชน์ตอบแทนปีละ 8,516.65 ล้านบาท และ อันดับ 3 บริษัทโรงแรมรอยัลออคิด (ประเทศไทย) (ROH) ยื่นข้อเสนอการดำเนินงานในนามกิจการร่วมค้า ประกอบด้วย ROH บริษัท เอ็มไพร์ เอเชีย กรุ๊ป จำกัด และ WDFG UK LIMITED คือ 78.85 คะแนน และเสนอค่าผลประโยชน์ตอบแทนปีละ 7,255 ล้านบาท

บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด เสนอค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปี (Minimum Guarantee) ปีแรกเป็นเงินจำนวน 15,419 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)  AOT จะปรับค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปีให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่อ้างอิงจากกระทรวงพาณิชย์ และการเติบโตของจำนวนผู้โดยสาร (ระหว่างประเทศ) ของทุกๆ ปี ตลอดอายุสัญญา

ส่วนผลการประมูลคัดเลือกผู้ประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อันดับ 1 บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด คะแนนสูงสุด คือ 95.20 คะแนน และเสนอค่าผลประโยชน์ตอบแทนปีละ 5,798 ล้านบาท ห่างจากอันดับ 2 บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) คือ 80.81 คะแนน และเสนอค่าผลประโยชน์ตอบแทนปีละ 3,003 ล้านบาท

สำหรับผลการประมูลคัดเลือกผู้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ อันดับ 1 คือ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิที่คะแนนสูงสุด คือ 96.10 คะแนน และเสนอค่าผลประโยชน์ตอบแทนปีละ 2,331 ล้านบาท  อันดับ 2 ROH ยื่นข้อเสนอการดำเนินงานในนามกิจการร่วมค้า ได้ 86.72 คะแนน และเสนอค่าผลประโยชน์ตอบแทนปีละ 2,012 ล้านบาท และอันดับ 3 กิจการร่วมค้าการบินกรุงเทพ ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี (ท่าอากาศยานภูมิภาค) คือ 84.74 คะแนน และเสนอค่าผลประโยชน์ตอบแทนปีละ 2,108.63 ล้านบาท

อ่านประกอบ

TRUE-DTAC-ADVANC แบ่งคลื่น 700 MHz ทรูฯ รับประโยชน์สูงสุด

KTAM มองตลาดหวังเฟดลดดอกเบี้ยมากไป คงเป้าหุ้นไทย 1,720 จุด