ปตท.กำไรแข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพิ่มบทบาท PTTGC-TOP ชัดเจน

HoonSmart.com>>PTTGC (บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล) และ TOP (บริษัทไทยออยล์) ในฐานะหัวหอกธุรกิจปิโตรเคมี และธุรกิจโรงกลั่น ขยับขึ้นมาเป็นลูกรักของบริษัทปตท. (PTT) เมื่อเห็นบทบาทมากขึ้น ในการสร้างกำไรก่อนหัก ภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อม (EBITDA) ประมาณ 26% จากที่พึ่งพาบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ. (PTTEP) มากถึง 40% ส่วนธุรกิจก๊าซ-น้ำมันของปตท. เอง มีสัดส่วน 30%

โมเดลธุรกิจที่มีฐานรายได้หลักมาจาก 3 ขา ช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับปตท.ในการเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Growth)ได้ ในทุกสภาวการณ์ ซึ่งมีส่วนสนับสนุนให้ตลาดหุ้นไทยน่าสนใจมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มปตท.มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) มากถึง 15% และสร้างความมั่นคงทางพลังงานก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก

ในไตรมาส 1/2562 PTT มีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 29,312 ล้านบาท มาจากฝีมือของบริษัทปตท.เอง สัดส่วน 28.70 % ซึ่งยังไม่รวมบริษัทอื่นๆที่ ปตท.ถือหุ้นใหญ่อีก 26.97% อาทิ ธุรกิจค้าปลีก-น้ำมัน (ถือ 100% PTTOR) รวมถึงการถือหุ้นในธุรกิจไฟฟ้า (GPSC)

ปตท.สผ.สร้างกำไรให้แม่เพียง  27.79% งวดนี้ไม่มากเท่าไร เพราะขาดทุนจากการป้องกันความเสี่ยงของตราสารอนุพันธ์

ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นมีขนาดใหญ่ขึ้น สร้างกำไรรวม 16.26% มาจาก PTTGC มากที่สุด 10% ตามด้วย TOP 5.96% และ บริษัทไออาร์พีซี (IRPC)

สำหรับธุรกิจไฟฟ้ายังคงสร้างกำไรเพียงไม่กี่เปอร์เซนต์  แต่เป็นธุรกิจแห่งอนาคตเช่นเดียวกัน

ล่าสุด คณะกรรมการปตท.หรือบอร์ดมีมติเพิ่มการลงทุนในปี 2562 เป็น 103,697 ล้านบาท จากเดิมกำหนดไว้ที่ 70,501 ล้านบาท ส่วนใหญ่เพิ่มในการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีและวิศวกรรม จากการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าและพลังงานทดแทน

ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 1/2562  ปตท.มีหนี้ทั้งสิ้น 144,822 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินบาท 110,715 ล้านบาท สัดส่วน 76% ดอลลาร์และอื่นๆ 34,107 ล้านบาทสัดส่วน 24% มีต้นทุนเฉลี่ย 5.35% ถ้ารวมบริษัทย่อย มีหนี้ทั้งหมด 540,303 ล้านบาท ต้นทุนเฉลี่ย 4.49%

นอกจากนี้บอร์ดยังเล็งเห็นความสำคัญของธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นมากขึ้น ล่าสุดมีมติจัดทัพใหม่ แต่งตั้ง“วิรัตน์ เอื้อนฤมิต” มือการเงิน เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่  TOP และโยก “อธิคม  เติบศิริ”อดีตซีอีโอ กลับ PTT  ส่วน พีทีที โกลบอล เคมิคอล ไว้วางใจให้ “คงกระพัน อินทรแจ้ง “ นั่งซีอีโอ และ “ปฏิภาณ สุคนธมาน” เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่  แทน “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์”ที่จะเกษียณอายุการทำงานวันที่ 30 ก.ย. 2562 นี้

ทางด้านสถาบันจัดอันดับ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับเพิ่มอันดับเครดิต PTTGC เป็น ‘AA+(tha)’ จาก ‘AA(tha)’  และปรับอันดับเครดิตTOP เป็น ‘AA(tha)’ จาก ‘AA-(tha)’   เพราะมองเห็นความสัมพันธ์ ด้านกลยุทธ์ของธุรกิจปิโตรเคมี และโรงกลั่น ที่มีความสำคัญต่อบริษัทแม่มากกว่าที่คาดไว้ หลังจากปรับโครงสร้างธุรกิจในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยสร้างรายได้สัดส่วน 31% ของรายได้รวม ขณะที่ EBITDA มีขนาดใหญ่ เป็นอันดับที่สองของกลุ่มในปี 2561 คิดเป็น 28% รองจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่งมีสัดส่วน 36%

“PTTGC มีความสำคัญด้านกลยุทธ์อย่างมากต่อธุรกิจปิโตรเคมี เนื่องจากเป็นผู้รับซื้อวัตถุดิบที่เป็นผลิตภัณฑ์ก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีรายใหญ่ของ ปตท. และ เป็นบริษัทปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดของ ปตท. เช่นเดียวกับ TOP มีความสำคัญด้านกลยุทธ์อย่างมากต่อธุรกิจโรงกลั่นของปตท.”

อย่างไรก็ตาม PTTGC ยังมีผลงานไม่ดีในปีนี้ ฟิทช์คาดว่า EBITDA จะลดลงจาก 5.7 หมื่นล้านบาทลงมาอยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภันฑ์ปิโตรเคมี และค่าการกลั่น ปริมาณการขายที่ลดลงจากแผนการหยุดเดินเครื่องเพื่อบำรุงรักษา ของ Aromatics Complex I

แนวโน้มผลการดำเนินงาน PTTGC ที่ฟิทช์คาดการณ์ สอดคล้องกับนักวิเคราะห์ทั้งไทยและต่างประเทศ โดยบริษัทเครดิตสวิส ปรับลดราคาเป้าหมายลงจาก   73 บาท เหลือ 65 บาท กดดันราคาหุ้นปรับตัวลง จนนำไปสู่มติบอร์ดอนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืน ภายในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 3,000 ล้านบาท จำนวนไม่เกิน 50 ล้านหุ้น คิดเป็นประมาณ 1.1% ของหุ้นทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 11 มิ.ย. -9 ธ.ค. 2562 ทำให้นักวิเคราะห์หลายแห่งให้คำแนะนำซื้อ แต่ล่าสุด 21 มิ.ย.ราคาหุ้นยังคงซื้อขายอยู่ที่ 64.75 บาทต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี (บุ๊คแวลู) อยู่ที่ 66.94 บาท

นักวิเคราะห์ยังไม่ชื่นชอบ PTTGC เท่ากับ PTTEP ที่มีการซื้อกิจการขนาดใหญ่ในต่างประเทศ เพิ่มปริมาณสำรอง และปริมาณการขายในอนาคต ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์เอเซียพลัส แนะนำการลงทุนในสัปดาห์นี้ ให้ซื้อหุ้น PTTEP ให้ราคาเป้าหมาย 166 บาท จากราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้น และธนาคารกรุงเทพ (PTT) ราคาเป้าหมาย 227 บาท

“นลินรัตน์ กิตติกําพลรัตน์” ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิจัย บล.เอเซียพลัส กล่าวว่า หุ้นพลังงาน โดยเฉพาะกลุ่มปตท.ที่ปรับตัวขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเกิดจากราคาหุ้นปรับตัวลงไปมามาก เมื่อราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้น จึงมีแรงซื้อหุ้นเข้ามา

ส่วนกรณี PTTEP มีการซื้อกิจการต่างประเทศ ได้ปรับเพิ่มมูลค่าเหมาะสมแล้ว ทั้งนี้มีการปรับสมมุติฐานราคาน้ำมันดิบลงจาก 65 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เหลือ 60 เหรียญสหรัฐ คาดว่าแนวโน้มครึ่งปีหลังจะซื้อขายต่ำกว่า 60 เหรียญสหรัฐ

สำหรับนักลงทุนที่ยังไม่ทราบว่าจะซื้อหุ้นอะไรเก็บไว้สำหรับการลงทุน แนะนำว่าหุ้นกลุ่มปตท.เหมาะสำหรับเก็บระยะยาว โดยเฉพาะ PTT ที่ให้อัตราผลตอบแทนปันผลสม่ำเสมอ มากกว่า 4% ต่อปี ส่วนบริษัทลูก อาทิ PTTGC,TOP ,IRPC ที่มีการลงทุนขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แม้ว่าในช่วงนี้กำไรจะเติบโตไม่โดดเด่น ถูกนักลงทุนเมิน  จังหวะที่ราคาหุ้นปรับตัวลง น่าจะเหมาะสำหรับการทยอยซื้อเก็บ  หวังกำไรจากส่วนต่างราคา และเงินปันผลที่ดีพอสมควร

อ่านประกอบ

ปตท.จัดทัพ “วิรัตน์ เอื้อนฤมิต” ซีอีโอคนใหม่ TOP