ไทยพาณิชย์ลุ้น กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 1 ครั้งปลายปี

ศูนย์วิจัย ไทยพาณิชย์ มีลุ้นกนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ย 1 ครั้งปลายปี หากเศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่องหรือเสถียรภาพระบบการเงินมีความเสี่ยงสูงขึ้น

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCBEIC) คาดว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ต่อเนื่องในปี 2561 แต่ ยังมีโอกาสที่ กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้งในช่วงปลายปี หาก เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องและช่องว่างการผลิตปิดลง พร้อมทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มทรงตัวภายในกรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน หรือ ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินเพิ่มสูงขึ้นชัดเจน และพบปัญหาเป็นวงกว้างที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยมาตรการกำกับดูแลความเสี่ยงเชิงระบบ (macroprudential policy) ก็อาจทำให้ กนง. จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้

“อีไอซีมองว่าวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้ จะเป็นการปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยในการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น กนง. จะประเมินผลกระทบอย่างถี่ถ้วน เพื่อไม่ให้การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายส่งผลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นของผู้ร่วมตลาด” เอกสารเผยแพร่ระบุ

สำหรับการประชุม กนง. เมื่อวันที่ 16 พ.ค. คณะกรรมการมีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี มีกรรมการ 1 คน ลาประชุม คณะกรรมการฯ ยังมองว่าการคงอัตราดอกเบี้ยจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อไป และจะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทรงตัวอยู่ในกรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง และดีกว่าที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน กล่าวคือ การส่งออกและท่องเที่ยวที่ขยายตัวตามเศรษฐกิจโลกยังคงเป็นปัจจัยสำคัญ พร้อมทั้งอุปสงค์ในประเทศที่ปรับดีขึ้นกว่าที่ประเมินไว้เดิม

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ กนง. กังวลและติดตามยังคงเป็นเรื่องการใช้จ่ายในประเทศที่ยังขยายตัวในระดับต่ำ เพราะกำลังซื้อยังไม่กระจายตัวไปสู่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยเท่าที่ควร ขณะที่การจ้างงานยังกระจุกตัวในบางกลุ่มอุตสาหกรรม และภาระหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังมีอยู่มาก

ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามที่ได้ประเมินไว้ ขณะที่คาดการณ์เงินเฟ้อปรับสูงขึ้น โดย กนง.ได้ระบุว่าการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศและราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น แต่ราคาอาหารสดที่อยู่ในระดับต่ำ จะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ

นอกจากนี้ ยังคงระบุว่าอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง อาทิ ธุรกิจ e-commerce และการแข่งขันด้านราคา สำหรับคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชน กนง. พบว่าโดยรวมปรับสูงขึ้น ซึ่งเป็นการสื่อสารที่เพิ่มขึ้นมาจากการประชุมครั้งก่อน

ทางด้านภาวะตลาดการเงินโดยรวมยังคงผ่อนคลาย และลดความกังวลด้านอัตราแลกเปลี่ยนลงในการสื่อสารครั้งนี้ โดยระบุว่า เงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลง ขณะที่เงินบาทเทียบสกุลเงินของประเทศคู่ค้าคู่แข่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัย และในระยะข้างหน้าอัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวน ซึ่งต่างจากการประชุมครั้งก่อนที่ระบุว่า ค่าเงินบาทมีความผันผวนสูงขึ้นและยังมีแนวโน้มผันผวนต่อไป

สำหรับภาวการณ์เงินด้านอื่นๆ กนง. ยังคงการสื่อสารที่คล้ายเดิม กล่าวคือ สภาพคล่องในระบบยังอยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังอยู่ในระดับต่ำ สินเชื่อขยายตัวเพิ่มขึ้น และระบบการเงินโดยรวมยังคงมีเสถียรภาพ