BBL กำไรโตเกินคาด ไตรมาส 2 โกย 9.34 พันลบ.

HoonSmart.com>>ธนาคารกรุงเทพลุ้นรีบาวด์  นำแบงก์ใหญ่ประกาศกำไรไตรมาส 2/2562 เติบโตสูงกว่าที่ บล.หยวนต้าคาดไว้ที่ 9 พันล้านบาท เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยโต ค่าธรรมเนียมประกัน-กองทุนรวมเพิ่ม คุมคุณภาพหนี้ดี สวนทางราคาหุ้นต่ำสุดในรอบ 1 ปี ส่วน KBANK ดิ่งแรง ก่อนเปิดตัวเลข 19 ก.ค.นี้

 

ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เปิดเผยผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2/2562 มีกำไรสุทธิ 9,347 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 153 ล้านบาท เติบโต 1.66% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 9,194 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 319 ล้านบาท หรือ 3.53% จากไตรมาส 1/2562 ที่มีกำไรสุทธิ 9,028 ล้านบาท

ส่วนผลงานรวม 6 เดือนแรกปีนี้ กำไรสุทธิ 18,375 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 177 ล้านบาท หรือ 0.97% เทียบกับกำไรสุทธิ 18,198 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า BBL มีกำไรดีกว่าที่คาดไว้ว่าไตรมาส 2/2562 จะทำได้จำนวน 9,090 ล้านบาท

ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า กำไรไตรมาส 2 ที่เพิ่มขึ้น 1.7% จากไตรมาส 2/2561 มาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 0.4% และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 2.36% ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 1% สาเหตุหลักจากกำไรสุทธิจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศ และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงเล็กน้อยจากค่าธรรมเนียมธุรกิจหลักทรัพย์ ซึ่งลดลงตามสภาวะตลาดทุน ขณะที่ค่าธรรมเนียมจากบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวมเพิ่มขึ้น

“ธนาคารยังคงรักษาสัดส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและสัดส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ประมาณ 57% และ 43% ตามลำดับ เป็นผลจากความตั้งใจในการกระจายแหล่งที่มาของรายได้ สำหรับอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 45.3%” ธนาคารระบุ

ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2562 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อ 2,017,314 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจและสินเชื่อกิจการต่างประเทศ ขณะที่อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 3.5% อยู่ในระดับเดียวกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลกระบวนการอำนวยการสินเชื่อ พร้อมทั้งบริหารคุณภาพสินเชื่อควบคู่กับการดำรงค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 185.8%

ผลงานในปี 2561 BBL จ่ายเงินปันผลกลางปี หุ้นละ 2 บาท และครึ่งปีหลังอีก 4.50 บาท รวมทั้งปี 6.50 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 12,407,478,811 บาท

ด้านราคาหุ้น BBL ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องจากที่เคยสูงกว่า 200 บาท ล่าสุดวันที่ 18 ก.ค. ปิดที่ 192.50 บาท ติดลบ 0.50 บาทหรือ 0.26% แต่การปรับตัวลงน้อยกว่า ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) รูดลง 3.50 บาทหรือ 1.91% ปิดที่ 180 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขายมากถึง 2,397 ล้านบาท

นักวิเคราะห์คาดว่า KBANK   จะประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/2562 ในวันที่ 19 ก.ค. มีกำไร 10,287 ล้านบาท ลดลง 5.8% จากระยะเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 2.4% จากไตรมาส 1

“BBL ปิดที่ 192.50 บาท ราคาต่ำสุดในรอบ 1 ปี และต่ำกว่ามูลค่าหุ้นทางบัญชี ที่ 222.78 บาท ณ สิ้นไตรมาส 1/2562  คาดว่ากำไรที่ออกมาดีกว่าคาดการณ์ จะส่งผลให้ราคาหุ้น BBL  ดีดกลับขึ้นมาได้” นักวิเคราะห์ระบุ