ASP แนะ BBL ปันผล 2 บาท – MINTคาดแจกผลตอบแทนสูง

HoonSmart.com>>บล.เอเซียพลัสคาดหุ้นสัปดาห์ที่จะถึงนี้บวกไม่เกิน 1,760 จุด  กลยุทธ์เลือกหุ้นปันผลกลางปี เน้นแบงก์  แนะติดตามกำไรกลุ่มพลังงาน-ปิโตรเคมีร่วง กดดันตลาด บล.กสิกรไทยให้แนวต้าน 1,745 และ 1,765 

บริษัทหลักทรัพย์เอเซียพลัส (ASP) คาดตลาดหุ้นในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ (22-26 ก.ค.2562) ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เหลือโอกาสปรับขึ้นไม่มาก ในระยะสั้นยังคงถูกจำกัดอยู่บริเวณ 1,750 – 1,760 จุด แนวทางการเลือกหุ้น จึงให้ความสำคัญกับหุ้นปันผลระหว่างกาล เน้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ประกาศกำไรไตรมาส 2/2562 ไปแล้ว หุ้นเด่นเลือก BBL มูลค่าเหมาะสม 227 บาท ผลงานเป็นไปตามคาดการณ์ 6 เดือนแรกมีกำไร  9.63 บาท/หุ้น  คาดจ่ายเงินปันผลกลางปีหุ้นละ 2 บาท ด้วยราคาที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้การติดลบน้อยลง

นอกจากนี้ยังแนะนำซื้อหุ้นที่ให้ผลตอบแทนที่คาดหวังสูง เลือก MINT มูลค่าเหมาะสม 47 บาท มีจุดเด่นที่สำคัญ คือ อยู่ในอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ขณะที่ผลประกอบการจากนี้ไปจะมีผลกระทบจากฤดูกาลน้อยลง หลังซื้อกิจการโรงแรมในยุโรป

“ยังให้น้ำหนักหุ้นไทย 40% ตามเดิม และยิ่งเข้าใกล้วันประชุมเฟดปลายเดือน ก.ค. สัญญาณที่บ่งชี้ถึงโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ดูเหมือนจะแรงยิ่งขึ้น สะท้อนผ่านการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ และการปรับขึ้นของตลาดหุ้นสำคัญ ยังเห็นทิศทางเงินมีโอกาสไหลเข้าหุ้นไทยต่อเนื่อง ทำให้ดัชนีจะไม่ลงไปต่ำกว่า 1,700 จุด”

สัปดาห์นี้มีปัจจัยในประเทศหลายเรื่องต้องติดตาม เริ่มจากการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาในช่วงปลายสัปดาห์ หลังจากนั้นน่าจะเริ่มเห็นการทยอยประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลบวกต่อหุ้นไทย รวมถึงการทยอยประกาศกำไรของกลุ่มธุรกิจแท้จริง คาดกำไรสุทธิชะลอตัว โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน และปิโตรเคมี อาจเกิดแรงกดดันต่อราคาหุ้น แต่ได้แรงหนุนจากการประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล

ภาวะการลงทุนในสัปดาห์ที่ผ่านมา ความกังวลประเด็นสงครามการค้ากลับมาประทุ และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกรูดลงกว่า 7% กดดันตลาดหุ้นโลก และไทยถูกซ้ำเติมจากแรงขายสถาบันกว่า 1 หมื่นล้านบาท กดดันดัชนีลดลง 0.98%

ทางด้านบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยคาดตลาดหุ้นในสัปดาห์ที่จะถึง มีแนวรับที่ 1,725 และ 1,715 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,745 และ 1,765 จุด ตามลำดับ

ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาท ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวที่ 30.60-30.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังจากปลายสัปดาห์ที่ผ่านมากลับมาแข็งค่า วันศุกร์ (19 ก.ค.) อยู่ที่ 30.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 30.88 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (12 ก.ค.)