จาก “วิวาทะวัตถุดิบ” สู่การนับถอยหลัง “โตเกียว 2020”

โดย…ณัฎฐะ มหัทธนา
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย

24 กรกฎาคม 2020 โอลิมปิกเกมส์ครั้งที่ 32 จะจัดขึ้น ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นั่นหมายความว่า วันพุธนี้ (24 กรกฎาคม 2019) ก็จะเริ่มเข้าสู่การนับถอยหลัง 1 ปี

สถิติที่น่าสนใจของดัชนีหุ้น “เจ้าภาพ” ช่วง 12 เดือนก่อนโอลิมปิก

– ดัชนีหุ้นของประเทศเจ้าภาพ “ปรับตัวขึ้น” 4 จาก 6 ครั้งหลังสุด
– 2 ครั้งที่ติดลบคือช่วงวิกฤต: แฮมเบอร์เกอร์ 2008, หนี้ยูโรโซน 2012
– ลบมากสุด Beijing 2008: Shanghai Composite -44.1%
– บวกมากสุด Atlanta 1996: S&P 500 +16.8%
– ค่าเฉลี่ย +0.5%, ค่ากลาง (มัธยฐาน) +9.4%

สถิติฯไม่ได้บ่งบอกว่า ดัชนีหุ้นญี่ปุ่น TOPIX, Nikkei จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในอีก 1 ปีข้างหน้า เพราะการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก ก็อาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นโดยตรงเท่าไรนัก นอกจากปัจจัยระยะสั้น เช่น กระตุ้นการท่องเที่ยว ดึงดูดความสนใจของชาวโลก หรือบรรยากาศที่คึกคักมากขึ้นในช่วงมหกรรมกีฬา เป็นต้น

นักลงทุนส่วนใหญ่ คงยังไม่ค่อยสนใจการนับถอยหลังโอลิมปิก เพราะนอกจากจะเฝ้าติดตามการตัดสินใจ (ลดดอกเบี้ย) ของบรรดาธนาคารกลางแล้ว ตลาดเอเชียเหนือยังถูกปกคลุมด้วยกรณีพิพาท ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ โดยหลังการเจรจาระดับคณะทำงาน 12 ก.ค. (ในบรรยากาศสุดแสนเย็นชา) เพื่อเคลียร์ปัญหา “ญี่ปุ่นเพิ่มความเข้มงวดการส่งออก 3 วัตถุดิบสำคัญไปยังเกาหลีใต้” ซึ่งกดดันผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์อย่างหนัก ประสบความล้มเหลว เกาหลีใต้ก็เตรียมร้องที่ประชุมองค์การการค้าโลก (WTO) ว่าญี่ปุ่นกีดกันการค้าไม่เป็นธรรม เพื่อโต้ข้อกล่าวหาของญี่ปุ่นที่ว่า เกาหลีใต้แอบส่งต่อวัตถุดิบให้เกาหลีเหนือ อันเป็นการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของสหประชาชาติ (UN) ความสัมพันธ์ 2 ประเทศย่ำแย่ลง จนล่าสุดสหรัฐฯเสนอตัวเป็นคนกลางช่วยไกล่เกลี่ย

ต้นตอของปัญหา รู้กันทั่วไปว่า (แม้ญี่ปุ่นปฏิเสธ) มาตรการเข้มงวดฯน่าจะออกมาเพื่อตอบโต้คำตัดสินของศาลสูงเกาหลีใต้ช่วงปลายปี 2018 ที่สั่งให้ 2 บริษัทยักษ์ของญี่ปุ่นคือ Nippon Steel และ Mitsubishi Heavy Industries จ่ายค่าชดเชยแก่เหยื่อชาวเกาหลีที่ถูกบังคับใช้แรงงาน สมัยญี่ปุ่นยึดครองเมื่อกว่า 70 ปีที่แล้ว โดยคดีแบบนี้ยังค้างศาลเกาหลีใต้อีกนับสิบคดี พัวพันบริษัทญี่ปุ่นราว 70 แห่ง ญี่ปุ่นไม่พอใจคำตัดสินฯ และแย้งว่าตนชดใช้ให้หมดแล้วตามสนธิสัญญาปี 1965 แต่ฝ่ายเกาหลีมองว่า ญี่ปุ่นไม่ค่อยสำนึกและขอโทษไม่มากพอ

ทำไม? ญี่ปุ่นเพิ่งมาเล่นงานเกาหลีใต้ต้นเดือน ก.ค. หลังศาลตัดสินไปนานกว่าครึ่งปีแล้ว! ผมขอไม่ตอบตรงๆ แต่ข้อมูลต่อไปนี้คงช่วยปะติดปะต่อเรื่องราว และทำให้คาดเดาได้ไม่ยากว่า อีกสักพักเรื่องมันก็น่าจะซาๆไป

ญี่ปุ่นมีการเลือกตั้งวุฒิสภาวันอาทิตย์นี้ (21 ก.ค.) ผลโพลโค้งสุดท้ายยังชี้ว่า พรรค LDP ของนายกฯอาเบะ รวมกับพรรคร่วมรัฐบาล จะรักษาเสียงข้างมากไว้ได้สบายๆ อย่างไรก็ตาม อาเบะต้องการที่นั่งมากถึง 2 ใน 3 ของสภาสูง เพื่อเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดทางให้ญี่ปุ่นมีกองทัพได้ ตามเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ของเขา

ข่าวลบๆด้านการเมือง/ภูมิรัฐศาสตร์ อาจเปิดโอกาสลงทุนดีๆในภาวะปัจจุบัน ด้วยเหตุผลดังนี้
1) สภาพคล่องเพิ่มขึ้นในปีนี้ หนุนตลาดหุ้นโลกโดยภาพรวม
2) ข้อพิพาทประวัติศาสตร์ “ไม่มีวันจบ” แต่คลี่คลายได้เป็นรอบๆด้วยการทูต
3) ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ เศรษฐกิจไม่ดีทั้งคู่ ทะเลาะกันนานไม่ได้ สักพักคงต้องหยุด
4) หุ้นญี่ปุ่น หุ้นเกาหลีใต้ ระดับราคาถูก ช่วยชดเชยความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง

สัปดาห์ที่ผ่านมาเราจึงเพิ่มกลยุทธ์ “สะสมเมื่ออ่อนตัว” กองทุนที่มี หุ้นญี่ปุ่น หรือ หุ้นเกาหลีใต้
กองทุนหุ้นญี่ปุ่น : KT-JAPAN, KT-JPFUND
กองทุนหุ้นตลาดเกิดใหม่: KT-EMEQ (สิ้น มิ.ย. มีหุ้นเกาหลีใต้ 12.8%)