6 บจ.ค้าปลีกไทยติดท็อปเท็นอาเซียน CPALL เบอร์ 1

HoonSmart.com>>ตลาดเผยงานวิจัย 6 ค้าปลีกไทย ติดท็อปเท็นของอาเซียน  CPALL ขึ้นเบอร์ 1 ยอดขาย-มาร์เก็ตแคป 

 

น.ส. ปฐมาภรณ์ นิธิชัย ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เผยแพร่บทวิจัย “หุ้นค้าปลีกไทยอยู่อันดับไหนในอาเซียน ? ” โดยระบุว่า เมื่อเมืองเติบโตขึ้น จำนวนประชากรที่อยู่อาศัยหรือทำงานในเขตเมืองย่อมเพิ่มขึ้นตลอดจนจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจค้าปลีก

อย่างไรก็ตาม ชีวิตที่ต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการ ไม่เพียงการขายสินค้าอุปโภคบริโภคแบบเดิม แต่ต้องตอบโจทย์วิถีชีวิตแบบใหม่ของผู้บริโภคมากขึ้น เช่น บริการอาหารพร้อมรับประทาน บริการงานออกแบบและซ่อมแซม บริการด้านการชำระเงิน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีกลยุทธ์ในด้านการจัดการรูปแบบสาขาและสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนการใช้เทคโนโลยี big data analytic เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันของลูกค้าแต่ละบุคคล รวมถึงการพัฒนา e-commerce และบริการขนส่งสินค้า

ปัจจัยทั้งหมดนี้ ส่งผลให้กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ในกลุ่มค้าปลีกเติบโตเฉลี่ย 8% ต่อปีในช่วงปี 2557-2561 และมีการจ้างงาน 1.7 แสนคน ในปี 2561 ซึ่งเพิ่มขึ้น 12.6% ต่อปีในช่วงปี 2557-2561

ธุรกิจค้าปลีกไทยไม่ได้เติบโตเฉพาะในประเทศ ปัจจุบัน บจ. ในกลุ่มค้าปลีก ขยายธุรกิจในต่างประเทศจำนวนมาก ทั้งในและนอกภูมิภาคอาเซียน และมีแผนที่จะขยายธุรกิจในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

สำหรับในอาเซียน บริษัทมีรูปแบบการขยายธุรกิจทั้งการเปิดสาขาใหม่เอง และร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่น เช่น บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) เปิดสาขา BigC ในเวียดนาม และลาว บริษัท โรบินสัน (ROBINS) เปิดสาขาโรบินสันในเวียดนาม บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL) เปิดสาขาในกัมพูชา และร่วมทุน  กับบริษัทท้องถิ่น ขยายสาขาในลาว และเมียนมา

บริษัท สยามแม็คโคร (MAKRO) เปิดสาขาแม็คโครในกัมพูชา และ บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) เปิดสาขาโฮมโปรในมาเลเซีย นอกจากนี้หลายบริษัทยังมีสาขาหรือมีแผนขยายสาขานอกภูมิภาคอาเซียน เช่น อินเดีย

จากศักยภาพในการเติบโตดังกล่าว ส่งผลให้หุ้นในกลุ่มค้าปลีกของไทย 6 บริษัท ติด 10 อันดับหุ้นค้าปลีกอาเซียน 1 ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงที่สุด โดย บริษัท ซีพี ออลล์ (CPALL) มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน ทั้งด้านมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ 24,316 ล้านเหรียญสหรัฐ และรายได้ที่ 15,742 ล้านเหรียญสหรัฐ

ธุรกิจค้าปลีกเป็นตัวอย่างที่ดีของการปรับตัว ตามความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง อย่างรวดเร็ว และสามารถประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี อย่างมีประสิทธิภาพ จนสามารถเติบโตอย่างต่อเนื่อง