“ฟิทช์” คงอันดับคุณภาพบลจ.ไทยพาณิชย์ ‘Excellent(tha)’

HoonSmart.com>> “ฟิทช์ เรทติ้งส์” คงอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนภายในประเทศ บลจ.ไทยพาณิชย์ที่ ‘Excellent(tha)’ ระดับสูงสุด ชี้มีการจัดการด้านการปฏิบัติการและการลงทุนโดดเด่นกว่ามาตรฐานที่นักลงทุนสถาบันภายในประเทศใช้

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนภายในประเทศ (National Investment Management Quality Rating) ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBAM) ที่ ‘Excellent(tha)’ แนวโน้มอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนมีเสถียรภาพ

อันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนเป็นการจัดอันดับในเชิงคุณภาพ โดยที่ฟิทช์จะประเมินความสามารถของบริษัทจัดการกองทุนในด้านการบริหารจัดการการลงทุนและปฏิบัติการการลงทุน บริษัทจัดการกองทุนจะถูกจัดอันดับในระดับต่างๆแบ่งเป็น ‘Excellent’ ‘Strong’ ‘Proficient’ ‘Adequate’ หรือ ‘Weak’ โดยเปรียบเทียบกับมาตรฐานที่นักลงทุนสถาบันภายในประเทศใช้ในการพิจารณาบริษัทจัดการกองทุน บริษัทจัดการกองทุนที่ได้รับการจัดอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนภายในประเทศที่ระดับ ‘Excellent(tha)’ แสดงถึงการที่บริษัทมีการจัดการด้านการปฏิบัติการและการลงทุน ที่ฟิทช์คิดว่าโดดเด่นกว่ามาตรฐานที่นักลงทุนสถาบันภายในประเทศใช้ในการพิจารณาบริษัทจัดการกองทุน

ฟิทช์มองว่า SCBAM มีกระบวนการการลงทุนที่ดีในการบริหารกองทุนที่หลากหลาย บริษัทมีการวิเคราะห์การลงทุนในเชิงลึกและเลือกลงทุนอย่างมีระบบ มีการติดตามและประเมินหลักทรัพย์ที่ลงทุนเป็นลายลักษณ์อักษร นอกจากนี้บริษัทมีการใช้เครื่องมือเชิงปริมาณ (quantitative tools) และปัจจัยเชิงคุณภาพ (qualitative factors) เพื่อสนับสนุนวัตถุประสงค์การลงทุนและกระบวนการการลงทุน ในช่วงที่ผ่านมาผู้จัดการการลงทุนได้มีการเริ่มใช้ machine learning สำหรับกองทุนตราสารหุ้นต่างประเทศจากเดิมใช้เพียงกองทุนตราสารหุ้นภายในประเทศ

สำหรับ SCBAM มีบุคลากรในการจัดการการลงทุนที่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมในเชิงกว้างและเชิงลึก มีผู้จัดการการลงทุนที่มีประสบการณ์ทำงานผสมผสานกันตามความเหมาะสมในแต่ละประเภทของกองทุน และผู้จัดการการลงทุนอาวุโสส่วนใหญ่มีประสบการณ์ทำงานกับบริษัทเป็นระยะเวลานาน บริษัทไม่ได้พึ่งพาบุคลากรคนใดคนหนึ่งมากเกินไป โดยการปรับเปลี่ยนบุคลากรในระดับผู้บริหารที่ผ่านมาเป็นไปตามอัตราการเปลี่ยนแปลงในปีก่อนๆ นอกจากนี้บริษัทมีการแยกความรับผิดชอบการบริหารจัดการการลงทุนอย่างชัดเจนและการแบ่งแยกทีมตามสายงานอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ระบบงานต่างๆ มีความเชื่อมต่อกันโดยอัตโนมัติ รวมทั้งมีความพร้อมในการปรับปรุงและบำรุงรักษาระบบอย่างสม่ำเสมอ ทำให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากและรองรับการลงทุนที่หลากหลายของบริษัท บุคลากรในการจัดการการลงทุนมีแหล่งข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจลงทุนที่หลากหลาย ฟิทช์มองว่า SCBAM มีบุคคลากรและทรัพยากรด้านเทคโนโลยีที่เพียงพอสำหรับการจัดการการลงทุน

ด้านการบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยง เนื่องจากธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB; ‘AA+(tha)’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ SCBAM เป็นผู้กำหนดนโยบายบริหารความเสี่ยงให้กับกลุ่มไทยพาณิชย์ แต่ในปีที่ผ่านมาทางธนาคารได้มีการกระจายอำนาจการบริหารความเสี่ยงจากจุดศูนย์กลางให้กับบริษัทลูก (decentralise) ซึ่งจะทำให้ SCBAM มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการบริหารความเสี่ยงด้านเครดิต ด้านปฏิบัติการ ด้านสภาพคล่อง และด้านความเสี่ยงของตลาด ส่วนสายงานบริหาร (reporting lines) ได้มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยจากปีก่อนๆ อย่างไรก็ตามแผนกบริหารความเสี่ยงของ SCBAM ยังมีความอิสระจากบุคลากรการจัดการการลงทุนแต่ทำงานใกล้ชิดกับผู้จัดการการลงทุนเพื่อการบูรณาการการบริหารความเสี่ยง (integrated) ทีมบริหารความเสี่ยงใช้ระบบที่เป็นมาตรฐานสากลสำหรับการประเมินความเสี่ยงและการทดสอบภาวะวิกฤต

ผลการดำเนินงานของกองทุนภายใต้การบริหารของ SCBAM อยู่ในระดับที่ดีเมื่อเทียบกับบริษัทจัดการกองทุนอื่นๆในประเทศไทย ซึ่งวัดจากผลการดำเนินงานของกองทุนเมื่อเทียบกับความเสี่ยงเป็นเกณฑ์ (risk-adjusted performance) ในส่วนของกองทุนตราสารหนี้ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดของสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (assets under management; AUM) มีผลการดำเนินงานของกองทุนเป็นที่น่าพอใจเมื่อเทียบกับกองทุนตราสารหนี้อื่นๆในอุตสาหกรรม สำหรับกองทุนหุ้นและกองทุนประเภทจัดสรรเงินลงทุนไปลงในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ (asset allocation funds) ผลการดำเนินการโดยรวมสอดคล้องกับกองทุนประเภทเดียวกันที่อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัทอื่นๆ

SCBAM จัดตั้งขึ้นในเดือนมีนาคม 2535 บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในธุรกิจบริหารจัดการกองทุน และมีผลิตภัณฑ์กองทุนที่มีความหลากหลายในด้านนโยบายการลงทุน โดยมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) มูลค่ารวมอยู่ที่ 1.6 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2562 บริษัทได้เพิ่มความหลากหลายในกองทุนประเภทจัดสรรเงินลงทุนไปลงในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ (asset allocation funds) เพื่อทำให้สถานะทางธุรกิจกองทุนรวมของบริษัทแข็งแกร่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามกองทุนตลาดเงินและตราสารหนี้ยังคิดเป็นสัดส่วนที่สูงกว่า 70% ของ AUM ทั้งหมดของบริษัท

นอกจากนี้ SCBAM เป็นผู้นำอย่างชัดเจนในธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูงกว่า 40% ของกองทุนส่วนบุคคลทั้งหมดในอุตสาหกรรม ซึ่งแสดงถึงสถานะทางธุรกิจของ SCBAM ที่แข็งแกร่งในธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล โดยเฉพาะในแวดวงนักลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ (high net worth) การนำเสนอข้อมูลต่อนักลงทุนมีความเป็นระบบสูง โดยมักจะมีมาตรฐานเหนือกว่ากฎเกณฑ์และมาตรฐานของอุตสาหกรรม เห็นได้จากรายงานที่บริษัทได้ส่งให้ผู้ถือหน่วยลงทุนสำหรับกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ปัจจัยที่อาจมีผลกระทบต่ออันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนในอนาคต อันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนอาจเปลี่ยนแปลงได้หากเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางลบอย่างมีนัยสำคัญกับห้าปัจจัย (pillars) หลักที่ใช้ในการจัดอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุน ซึ่งได้แก่ กระบวนการการบริหารจัดการการลงทุน บุคลากรในการจัดการการลงทุน การบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยง ผลการดำเนินงานจากการบริหารจัดการการลงทุนและบริษัทและการบริการลูกค้า การปรับลดคะแนนสำหรับปัจจัยข้างต้นดังกล่าวอาจส่งผลกระทบในทางลบต่ออันดับคุณภาพการจัดการการลงทุน